( (( )) )

6 พฤศจิกายน 2555

การหามูลค่าที่เท่ากันของมรดกหลายประเภท

การแบ่งมรดกเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พี่น้องต้องมาทะเลาะกัน ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ความโลภ แต่อยู่ที่ความไม่เป็นธรรม อันเนื่องจากผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกเป็นคนเดียวกัน อีกทั้งการหามูลค่าที่เท่ากันของมรดกหลายประเภทผสมกันนั้นอาจทำได้ยาก เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์จะมาช่วยแบ่งให้เท่าเทียมกันและพอใจกันทุกฝ่ายได้

การแบ่งสมบัติอาจทำให้พี่น้องซึ่งเคยรักกันกลับมาผิดใจกันได้ ยิ่งสมบัติมีมูลค่ามาก ปัญหาก็อาจจะมากตามมา ในทางตรงกันข้าม หากไม่มีสมบัติ ปัญหาความขัดแย้งบางอย่างก็อาจไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ หากเจ้าของสมบัติเสียชีวิตลง สมบัติก็จะเปลี่ยนเป็นมรดก ซึ่งถ้าไม่มีพินัยกรรมที่ชัดเจน ความขัดแย้งก็จะยิ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณ

บางคนอาจคิดว่าความขัดแย้งเรื่องสมบัติเป็นเรื่องของความโลภ เพราะละครไทยมักสร้างให้พระเอก/นางเอกปฏิเสธที่รับมรดก (แต่สุดท้ายก็ต้องรับมรดกด้วยความจำใจ) แต่อันที่จริง ความขัดแย้งกลับเกิดจากความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมมากกว่าเรื่องของความโลภ (รู้สึกว่าตนเองควรจะได้มากกว่า) ซึ่งสาเหตุรากฐานก็เพราะไม่มีระบบการแบ่งมรดกที่ดีพอ

ตามครรลองแล้ว กระบวนการแบ่งมรดกก็คือ กฎหมายจะทำการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก (ส่วนมากก็เป็นพี่ชายคนโต) และผู้จัดการมรดกก็จะทำหน้าที่แบ่งสรรสมบัติ ผลก็คือผู้จัดการมรดกก็มักแบ่งสรรแล้วตนเองได้ประโยชน์มากกว่าคนอื่นๆ ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น

ปัญหาของการแบ่งสมบัตินั้นมีอยู่ ๒ ส่วน ส่วนแรกคือ ผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจในการแบ่งสรรนั้น เป็นผู้รับมรดกด้วย (Principal-Agent Problem) ส่วนที่สองคือ สมบัติอาจถูกตีมูลค่าไม่เท่ากันในความรู้สึกของแต่ละคนที่ได้รับ เช่น มีที่ดินอยู่ 5 ไร่ แบ่งให้พี่น้อง 5 คน จะได้คนละ 1 ไร่ ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้เท่ากัน แต่ที่จริงแล้ว มันขึ้นอยู่กับว่า ใครได้ด้านหน้า/ด้านหลัง หน้ากว้าง/หน้าแคบ ติดถนน/ด้านใน อยู่กลางแปลง/ด้านข้าง เป็นต้น [หากสมบัติเป็นเงิน อาจจะไม่มีปัญหานี้ เพราะแบ่งได้เท่าเทียมกว่า แต่หากมีสมบัติแล้วแปลงเป็นเงิน ความขัดแย้งก็ยังอาจจะเกิดขึ้นอยู่ดี เพราะ อาจต้องถกเถียงกันในเรื่องราคาขายที่เหมาะสม]

อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้แนวทางการแบ่งมรดกนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไข ๒ ประการ หนึ่งคือการฮั้วกันของพี่น้องบางคนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ สองคือแนวทางนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อเป็นการแบ่งสมบัติแบบเท่ากันทุกคน

ปัญหาแรกที่ผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจในการแบ่งสรรเป็นผู้รับมรดกด้วยนั้น หลักการก็คือต้องแยกความเป็นผู้มีอำนาจในการจัดสรรกับความเป็นผู้ได้รับส่วนแบ่งออกจากกัน แน่นอนว่าไม่ใช่การหาบุคคลที่สามเข้ามาจัดสรร เพราะเขาก็อาจเข้าข้างพี่น้องคนใดคนหนึ่ง (หรืออาจถูกประมูลซื้อตัวจากเหล่าพี่น้อง) ดังนั้น ต้องแก้ไขปัญหานี้ในเชิงระบบ

แนวทางก็คือ “เมื่อแบ่งกองมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกจะเป็นผู้ได้รับกองมรดกที่เหลือจากคนอื่นๆ” ลองจินตนาการดูว่า หากคุณเป็นผู้จัดการมรดก คุณจะแบ่งกองอย่างไรให้คุณได้มรดกมากที่สุด นั่นคือ คุณต้องแบ่งให้ทุกกองมีมูลค่าใกล้เคียงกันมากที่สุด เพราะคุณไม่รู้ว่ากองไหนจะเหลือ และไม่ว่ากองไหนเหลือก็ตาม คุณจะได้ความพอใจไม่แตกต่างออกไป(แน่ๆ)

อย่างไรก็ตาม กองมรดกที่ถูกแบ่งจะมีมูลค่าใกล้เคียงกันเฉพาะในมุมของผู้จัดการมรดกเท่านั้น แต่พี่น้องคนอื่นอาจจะคิดต่างออกไป เช่น หากพี่น้องบางคนต้องการกองมรดกกองเดียวกัน เพราะให้มูลค่าสูงที่สุดที่มรดกกองเดียวกัน ความขัดแย้งก็อาจเกิดขึ้น และคำถามก็คือ ใครควรจะได้มรดกกองนี้ไป

ในกรณีนี้ แนวทางก็คือ “ผู้ที่จะได้รับมรดกแต่ละกองต้องเป้นผู้ชนะการประมูลมรดกกองนั้นๆ”

ลองจินตนาการดูว่า หากพี่น้องแต่ละคนเลือกมรดกคนละกองไม่ซ้ำกันเลย นั่นหมายความว่า มูลค่าการประมูลเป็นศูนย์ แต่ทุกคนจะได้รับความพอใจสูงที่สุด เพราะแต่ละคนได้รับมรดกกองที่มีมูลค่าสูงที่สุดสำหรับตนเอง ขณะที่ผู้จัดการมรดกก็ไม่ได้สูญเสียเช่นกัน

แต่หากพี่น้องแต่ละคนเลือกกองมรดกที่ซ้ำกันไปมา ให้แต่ละคนเสนอราคาประมูลกองมรดกแต่ละกอง พวกเขาจะเสนอมูลค่าเท่าที่เขารู้สึกว่ามันควรจะเป็น (หากราคาประมูลสูงเกินไป เขาจะไปเลือกกองอื่น) การแข่งขันนี้จะทำให้คนที่ให้มูลค่าสูงที่สุดกับมรดกกองนั้นๆ ได้มรดกไป ซึ่งคนที่ประมูลไปแล้วจะไม่สามารถประมูลกองอื่นได้อีก (เพราะมรดกรับได้แค่คนละกองเท่านั้น) แน่นอนว่า คนสุดท้ายจะไม่ต้องจ่ายเงินประมูลเลย เพราะไม่มีใครแข่งประมูล

จากนั้น เงินที่ได้จากการประมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมและหารเฉลี่ยเท่ากันคืนให้กับพี่น้องทุกคนเท่าๆ กัน นั่นหมายความว่าทุกคนที่จ่ายออกไปนั้น จะไม่ได้จ่ายเท่ากับที่ตัวเองจ่ายออกไปจริงๆ เพราะได้เงินคืนภายหลัง ซึ่งจะเป็นเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับการให้มูลค่ามรดกกองอื่นๆ ของคนอื่นๆ และคนที่รับมรดกกองสุดท้ายจะเป็นผู้ได้รับเงินเพิ่มจากมรดกแน่นอน ซึ่งก็สมเหตุสมผล เพราะเขากำลังได้รับมรดกกองที่สังคม(พี่น้อง)ให้มูลค่าต่ำที่สุด

ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่าย สมมติว่าคุณได้ที่ดินรูปร่างแปลกๆ มาหนึ่งแปลง และต้องแบ่งให้พี่น้อง 5 คน ผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นพี่คนโตอาจจะเริ่มจากการแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คำนึงถึงทำเลที่อยู่ตรงกลาง/ริม และติดถนน/ด้านใน โดยออกมาเป็นสัดส่วนดังนี้ 10% 15% 20% 25% และ 30% ผลการประมูลแสดงได้ดังตาราง


จากตัวอย่างจะเห็นว่า พี่น้องคนที่ 3 จ่ายสูงที่สุด 100 บาทเพื่อรับที่ดินผืน 30% ไป นั่นหมายความว่า อย่างน้อยที่สุด เขาให้มูลค่าของที่ดินผืนนี้มากกว่าผื่นอื่นๆ 100 บาท แต่การที่เขาได้รับเงินคืน 50 บาท นั่นก็เพราะพี่น้องทุกคนให้มูลค่าของที่ดินทุกผืนเฉลี่ยมากขึ้นไป 50 บาทอยู่แล้ว เขาจึงควรจะจ่ายแค่ส่วนต่างของสองราคานี้ก็คือ 50 บาท

ขณะที่พี่ชายคนโต (พี่น้องคนที่ 1) ซึ่งแบ่งผืนที่ดินให้มีมูลค่าใกล้เคียงกันที่สุด เพราะไม่มีสิทธิเลือก สุดท้ายเขาได้ที่ดินผืน 25% ซึ่งเขามองว่ามีมูลค่าเท่ากับผืนอื่นๆ แต่พี่น้องทุกคนให้มูลค่าของที่ดินทุกผืนเฉลี่ยมากขึ้นไป 50 บาท เขาจึงควรได้รับส่วนเพิ่มตรงนี้เพื่อปรับให้เข้ากับการตีมูลค่าของคนอื่นๆ

เพียงเท่านี้ พี่น้องทุกคนก็จะมีส่วนร่วมและได้รับมรดกในส่วนที่เขาพึงพอใจมากที่สุด อาจจะติดก็เพียงแค่คนที่กำลังจะได้เป็นผู้จัดการมรดกจะยินยอมเอาวิธีนี้ไปใช้หรือไม่ ถ้าไม่ อันนี้ก็อาจไม่ใช่ปัญหาเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นปัญหาการเมือง ซึ่งก็คงต้องว่ากันไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: