( (( )) )

25 ธันวาคม 2555

กระแสสำนึก ของนายธนาคารแห่งอนาคต

 


(*Creative Non-Fiction เชิงวรรณกรรมการเงิน ลำดับที่ ๑ ว่าด้วย KIVA)

เช้านี้อากาศเย็นเยือกแต่ไร้หมอก บุณฑริกไม่เคยหนาวเยี่ยงนี้มาหลายปีดีดัก ทอดสายตาจากเฉลียงของบ้านเชิงเขาหลังบ่อเลี้ยงปลาเทราต์ จะเห็นพาโนราม่าภาพใหม่ที่เพิ่งจะร่างเสร็จโดยน้ำมือมนุษย์ แซมลงบนผืนผ้าใบแห่งธรรมชาติอย่างลงตัว มันเป็นพาโนราม่าภาพใหม่บนรองพื้นเดิม ของเมื่อสิบสองปีก่อน แต่พาโนรามาภาพเก่าสมัยที่เปี๊ยกยังเด็ก มันเป็นอีกภาพหนึ่ง ไม่ใช่ภาพนี้

เปี๊ยกเพิ่งสังเกตว่าดงต้นหลิวเชิงเขาที่ห่อหุ้มตัวบ้านไว้ทั้งสามด้าน ซ้าย ขวา และตลอดแนวหลัง​บ้าน ซึ่งไต่เล่นระดับสูงขึ้นไปเป็นแถวทึบจนเกือบถึงที่โล่งกว้างบนยอดเนิน เติบโตสูงใหญ่มากแล้ว และแฝงความนัยไว้หลายแง่ จะว่าร่มรื่นก็ร่มรื่น จะว่ารื่นรมย์ก็รื่นรมย์ จะว่าน่าขยาด ก็น่าขยาด จะว่าน่าค้นหา ก็น่าค้นหา และจะว่าน่ากลัว ก็น่ากลัว

สมัยเด็กๆ เปีี๊ยกไม่เคยคิดมากกับดงต้นหลิวเหล่านี้มาก่อนเลย แต่เมื่อได้ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ และไปเรียนมหาวิทยาลัยที่เมืองนอก เปี๊ยกก็เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับต้นหลิวไปโดยสิ้นเชิง

มันเป็นเช้าที่สดใส เช้าที่น่าอภิรมย์ เปี๊ยกชอบตอนเช้า และชอบที่จะตื่นขึ้นมาจ้องมอง “ตอนเช้า” เขาชะโงกมองปลาเทราต์ที่ท้องสระ เห็นมันสบัดหางเปลี่ยนทิศทางทันทีที่เงาเขาทอดทาบลงบนตัวมัน พวกมันมาจากโครงการหลวงดอยคำ มาทดลองเลี้ยงที่นี่ตลอดหนาวนี้ แม้น้ำจะใส แต่เขากลับเห็นภาพพวกมันซ้อนๆ บิดๆ เบี้ยวๆ เนื่องเพราะแสงอาทิตย์ยามเช้าช่วยหักเหภาพเหล่านั้น ผ่านฟองกระเพื่อมของเครื่องพ่นอ็อกซิเจน ก่อนที่จะสะท้อนมาที่ตาเขานั่นเอง

พ้นจากขอบสระด้านโน้นไป เป็นสนามหญ้าหน้าบ้าน กว้างขวางจรดขอบรั้วทั้งสามด้าน น้ำค้างบนยอดหญ้ายังไม่เหือดดี เปี๊ยกชอบกลิ่นหญ้าเจือน้ำค้างเวลาถูกรองเท้าบู๊ตหรือยางรถยนต์บทขยี้ แต่มันกลับส่งกลิ่นต่างออกไป เมื่อเขาย่ำมันด้วย Adidas Stan Smith เบอร์ 8 ตอนแสงอาทิตย์เผาคราบน้ำค้างจนหมดจดแล้ว

รั้วลวดหนามทำหน้าที่กั้นระหว่างสนามหญ้ากับแนวพุ่มไม้ เตี้ยบ้างสูงบ้าง มีทั้งไม้ผลกินได้อย่างมะม่วง มะนาว ชมพู่ และไม้ยืนต้นอย่างสนและเค็ง ปลูกลาดลงไปสองข้างทาง จนไปหยุดอยู่ที่แนวแรกของป่ายาง เป็นป่ายางพาราน้ำมือมนุษย์ ปลูกเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบ ถูกต้องตามหลักวิชาการ ที่พ่อกำนันริ่เริ่มนำมาปลูกก่อนใครเพื่อน เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ก่อนญาติพี่น้องจะเอาอย่าง แล้วเพื่อนบ้านนอกวงศาคนาญาติ ตลอดจนสมาชิกของหมู่บ้านใกล้เคียง และหมู่บ้านถัดๆ ไป จะทะยอยแห่ตามจนพลิกท้องทุ่งนาให้กลายมาเป็นสวนป่า ทำให้ภาพพาโนรามา ณ จุดที่เปี๊ยกยืนมองอยู่นั้น เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

บัดนี้ยางพาราเติบใหญ่เต็มตัว เห็นเป็นแถวแนวยาวลงไปสุดลูกหูลูกตา มีเพียงถนนลูกรังสายเก่าผ่ากลาง แบ่งแนวป่าออกเป็นสองซีก และมุ่งหน้าไปออกทางหลัก ที่มุ่งสู่ชายแดนลาว ณ ช่องเม็ก เป็นอันสิ้นเขตแดนไทย

ก่อนนี้ สมัยที่เปี๊ยกยังเด็ก ไม่มีใครคิดว่าคนอีสานจะกลายเป็นชาวสวนยาง ทว่าบัดนี้ อาชีพสวนยางเป็นอาชีพหลักอันหนึ่งของชาวอิีสาน คนอีสานจำนวนมากที่ผิดหวังพ่ายแพ้ให้กับแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกับบรรดานายจ้างเจ้าของโรงงานที่พ่ายแพ้ให้แก่จีนอีกทอดหนึ่ง หรือระอากับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ และโอกาสอันตีบตันที่สังคมสมัยใหม่มอบให้ ต่างพากันมุ่งหน้ากลับบ้าน หันมาประกอบการเล็กๆ น้อยๆ และรับจ้างกรีดยางคู่ขนานไปกับการทำนาเพื่อยังชีพ การเติบโตของจีน แม้จะเร่งทำลายอดีตนายจ้างแถบปริมณฑลและอีสเทรินซีบอร์ดของพวกเขา แต่กลับช่วยหนุนส่งให้ราคายางพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เปี๊ยกกำลังครุ่นคิด รำพึงรำพันกับตัวเองอยู่นี้ ยางพารากิโลกรัมละ 150 บาทแล้ว โดยนายหน้าหอบเงินสดมารับซื้อทุกสิบห้าวัน จึงต้องเร่งกรีดยาง ผ่านระบบ Profit Sharing ที่แบ่ง 50:50 ระหว่างเจ้าของสวนยางกับคนกรีดยางในปีแรก และ 60:40 ในปีต่อๆ ไป

ชาวบุณฑริกมั่งคั่งขึ้นมาก ลูกหลานที่เคยจากไปก็ทะยอยกลับมาอยู่กับพ่อแม่และผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องจากบ้านไปหากินแดนไกล ถ้าไม่พอใจสวนยาง ก็สามารถประกอบการอื่นได้ด้วยเงินออมของพ่อแม่และเงินทุนของเปี๊ยก


เปี๊ยกภูมิใจอยู่ลึกๆ ที่ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการสร้างความมั่งคั่งของชาวบ้าน แม้จะเพียงส่วนเสริม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและมีศักยภาพ
แม้เปี๊ยกจะร่ำเรียนมาทาง Finance แต่เมื่อได้ฟังคำบรรยายของศาสตราจารย์ Mohamad Yunus เมื่อหลายปีก่อน เขาจึงเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตจากเดิมที่คิดจะเติบโตในวงการหุ้นและ Private Equity ตัดสินใจเข้าร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนหลังเรียนจบ เขาผ่านงานมวลชนมาแล้วหลายรูปแบบกับหลายองค์กร แต่ก็มาจบกับ Microfinance ตามที่ร่ำเรียนมาและเคยฝึกงานก่อนจบ


เขาเขียนโครงการนำเสนอกับมูลนิธิสำคัญๆ ในต่างประเทศ เพื่อระดมเงินทุนมาปล่อยกู้ให้กับพ่อกำนันและวงศาคนาญาติก่อนในเบื้องแรก ด้วยวงเงินไม่เกินรายละ 20,000 บาท และเงื่อนไขใกล้เคียงกับ ธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตร เพียงแต่ของเขาไม่ต้องใช้หลักประกัน และยังจัดบริการความรู้เชิงการจัดการ การผลิต และการตลาด เสริมให้กับผู้กู้อย่างเป็นกันเองและเป็นระบบ ถ้าผู้กู้รายใดมีประวัติการเบิกใช้เงินและชำระคืนเงินต้นดี ตรง เชื่อถือได้ เขาก็จะเพิ่มวงเงินและผ่อนคลายเงื่อนไขให้ในงวดต่อไป ของเขาจึงไม่เคยมีหนี้เสียเลย อย่างมากก็ชำระล่าช้าแต่ที่สุดก็ตามกลับมาได้เป็นปกติ โดยเขาขยายเครือข่ายกิจการด้วยอาศัยปากต่อปากและให้ผู้กู้เดิมค้ำประกันผู้กู้รายใหม่ จนสามารถแผ่ขยายธุรกิจออกนอกแวดวงญาติพี่น้อง จนออกนอกหมู่บ้าน นอกตำบาล นอกอำเภอในที่สุด


เขากำลังคิดจะขยายออกนอกจังหวัด แต่ยังติดที่แหล่งเงินทุนและทีมงาน ซึ่งตอนนี้ มีเขากับหญิงพัน แฟนสาว และรุ่นน้องร่วมอุดมการณ์อีกเพียงสองคน เขาทราบจากเพื่อนฝูงในแวดวงเอ็นจีโอที่ทำงานมวลชนในกัมพูชา ว่าขณะนี้มีเพื่อนนักเรียกเก่าสแตนฟอร์ดสองคนผัวเมียในซานฟรานซิสโก จัดทำเว็บไซต์ www.kiva.org เป็นตัวกลางให้บรรดา Microfinance สามารถออกตัวได้ในตลาดทุนโลก ผ่านสมาชิกเว็บไซต์ผู้ใจบุญหรือมีอุดมการณ์และต้องการปล่อยสินเชื่อให้กับชาวบ้านและผู้ประกอบการที่เป็นคนเล็กคนน้อย


เปี๊ยกติดต่อ Kiva ผ่าน Matt Flannery ผู้ก่อตั้งเว็บนั้นทันทีที่ทราบข่าว และเขาก็ได้รับคัดเลือกจาก Kiva หลังจากต้องผ่านกระบวนการคัดสรรอย่างหนักหน่วงทั้งในเชิงความเข้มแข็งของการจัดการและความเข้มข้นเชิงมวลชนและสังคม ให้เป็นหนึ่งในโครงข่าย Field Partner หรือตัวแทนในพื้นที่ ซึ่ง Kiva อ้างว่ามีอยู่แล้วกว่า 200 ราย กระจายกันไปใน 54 ประเทศ และเป็นตัวกลางผ่านเงินกู้มาแล้วกว่า 130 ล้านเหรียญฯ นัยว่าองค์กรของเปี๊ยกเป็นเจ้าแรกในเมืองไทย
นับแต่นี้ เปี๊ยกและสหายต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรม Microfinance ของตนให้อยู่ในรูปดิจิตัลไฟล์ ต้องจัดทำ Profile องค์กรและของชาวบ้านผู้ขอกู้ ตลอดจนรายละเอียดโครงการ แผนการใช้เงิน และตารางการชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย เป็นภาษาอังกฤษ แล้วอัพโหลดขึ้นโฆษณาผ่านเว็บ Kiva เพื่อขอให้สมาชิกเว็บ Underwrite เงินกู้ โดยแต่ละรายมีสิทธิเลือกวงเงินปล่อยกู้ได้ตั้งแต่รายละ 25 จนถึง 150 เหรียญฯ แล้วแต่ศรัทธาและความเชื่อมั่น เมื่อมีผู้ Underwrite Loan ผ่าน PayPal หรือ Credit Card จนครบจำนวนแล้ว Kiva ก็จะส่งมอบเงินกู้ก้อนนั้นให้กับเปี๊ยก ทดแทนให้สำหรับเงินก้อนที่เปี๊ยกสำรองจ่ายออกไปก่อนแล้ว ซึ่งระยะแรกอาจจะอยู่ระหว่าง 300-375 เหรียญฯ ต่อโครงการ และวางแผนการใช้คืนในระยะ 12-13 เดือน นั่นทำให้เปี๊ยกมีเงินทุนมาหมุนเวียนปล่อยกู้ให้กับชาวบ้านรายอื่นต่อไปได้ไม่รู้จบ....
นั่นหมายความว่า นับแต่นี้ นอกจากเปี๊ยกจะต้องเป็น NGO ที่ดี เป็น Banker ในอุดมคติแล้ว เขายังจะต้องสวมบทบาท “Storyteller” ที่เก่งและน่าเชื่อถือ อีกโสตหนึ่งด้วย
เปี๊ยกพร้อมแล้วกับบทบาทใหม่ของตัวเอง และเขาก็ภูมิใจกับอาชีพนี้ ที่ได้ใช้วิชาความรู้เชิงทุนนิยมที่รำ่เรียนมา ควบคู่ไปกับการอุทิศตัวรับใช้มวลชนตามอุดมคติ เขารู้สึกดีมากเมื่อนึกคิดมาถึงตรงนี้....fell good
และขณะที่เขายังรู้สึกอิ่มเอมและแอบยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อยู่เพียงลำพัง ลมหนาวแรกของเช้านี้ก็พัดวูบเข้าปะทะใบหน้า จนเปี๊ยกยิ่งรู้สึกได้ถึงรูปธรรมของความอภิรมย์และอิ่มใจ เขาหันไปมองดงหลิวข้างๆ พลันนึกถึงบทพรรณาที่ช่างงดงาม ที่ผู้เขียนสามารถเลือกสรรคำสวยมาปั้นแต่งวลีและประโยคได้ราวกับกำลังร่ายบทกวีที่ไร้ฉันทลักษณ์ว่า
“ดงต้นหลิวเหล่านี้จะโยกกิ่งก้านเสียดส่ายใบบังของมันกับกระแสลมเป็นที่สำเริงสำราญ ใบอันมีสีสันเยีี่ยงเงินยวงของมันที่สะท้อนแสงวิบวับกับแสงตะวันจะพลิ้วไหวพะเยิบพะยาบเป็นพืดแน่นขนัด ก่อให้เกิดสุนทรียภาพอันชวนตื่นตะลึง ต้นหลิวประดานี้ไม่อาจเติบโตเป็นไม้ใหญ่สมบูรณ์งามสง่ากับเขาได้เลย กิ่งก้านสาขาของมันมิได้แข็งแกร่งขึงขัง มันเป็นได้แค่สุมทุมพุ่มไม้เตี้ยต่ำ มีเรือนยอดเป็นทรงกลมป้อม และมีรูปทรงโครงร่างอันอ่อนไหว กิ่งแขนงอันอ้อนแอ้นอรชรของมันจะโยกส่ายทันทีแม้ว่ากระแสลมที่พัดผ่านจะแผ่วจางบางเบาอย่างที่สุดก็ตาม ลู่เอนยวบยาบเยี่ยงพงหญ้า และเอาแต่โอนเอนสั่นพลิ้วอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเราอดรู้สึกไปไม่ได้ว่าดงหลิวทั้งดงนี้กำลังเคลื่อนไหว และตัวมันเองนั้นก็คือสิ่งมีชีวิตจิตใจ เพราะว่ากระแสลมจะทำให้พื้นผิวส่วนบนของดงหลิวทั้งดงเกิดเป็นระลอกคลื่นแห่งท้องทะเล และจะเขียวขจีอยู่เช่นนั้นจนกว่ากิ่งของมันจะถูกลมพัดจนบิดพลิกและยกสูงขึ้น ซึ่งทีนี้แหละด้านล่างของใบซึ่งเป็นสีเงินยวงของมัน ก็จะพลิกขึ้นต้องแสงตะวัน” **

เปี๊ยกหันกลับไปมองทิวป่ายาง ผ่านสระน้ำ ผ่านสนามหญ้า ผ่านแนวรั้ว ผ่านพุ่มไม้ ผ่านป่ายางของพ่อกำนัน ผ่านป่ายางของน้าแหวง ผ่านป่ายางของพ่อใหญ่ด้วง ผ่านป่ายางของใครต่อใครที่ไล่เรียงลงเนินไปจนสุดสายตา เขาสังเกตุเห็นฝุ่นคลุ้งขึ้นที่แนวถนนเป็นระยะ

กำลังมีรถกระบะมุ่งหน้ามาทางนี้สามคัน

**ท่อนนี้คัดจาก “แดนสนธยาดาถรรพ์” แปลจาก “The Willows” ของ Algernon Blackwood แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง, Pajonphai Publishing มีนาคม 2553, หน้า 19

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับพิเศษ ควบเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2554

หลวงตามหาบัว พระครีเอตีฟ

หลวงตามหาบัว พระครีเอตีฟ +หลวงตามหาบัว 



ผมได้ยินชื่อหลวงตาบัวครั้งแรกจากเพื่อนคนหนึ่งซึ่งให้ความเคารพหลวงตาอย่างสูงยิ่ง เวลาเอ่ยถึงหลวงตา เพื่อนคนนี้จะแสดงความศรัทธาอย่างมาดมั่นจริงจัง ถึงความเป็นพระอรหันต์ของหลวงตา พร้อมให้เหตุผลสนับสนุนในเชิงพุทธคุณบุญบารมี หลายประการ

ต่อมาอีกหลายปี ผมถึงเริ่มได้ยินข้อถกเถียงอันเผ็ดร้อน ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่เชื่อว่าหลวงตาเป็นพระอรหันต์ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เชื่อ ต่างฝ่ายต่างเยาะเย้ยถากถางกันต่างๆ นาๆ

นั่นเป็น Issue สำคัญ สำหรับหลวงตาบัว และยังคงค้างคาอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งทุกวันนี้

ผมหวังว่าต่อไปจะมีคนเขียนชีวประวัติชั้นดีของหลวงตาขึ้นมาสักหลายเล่ม

ชีวิตของหลวงตาเป็นชีวิตที่น่าศึกษาและควรค่าแก่การเรียนรู้ของคนรุ่นหลัง จากครอบครัวชาวบ้านธรรมดา หนึ่งในลูก 15 คนของพ่อแม่ การศึกษาไม่เคยได้รับ จนเข้าสู่ร่มกาสวพักตร์เมื่อเป็นหนุ่มแล้ว เคยเดินปฏิบัติธรรมธุดงค์ไปทั่วเขตแคว้นแดนอีสานและเหนือ และทันศึกษาพระธรรมและวิปัสนากรรมฐานโดยตรงกับหลวงปู่มั่น พระป่าซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งศตวรรษที่ 19 เคยจำวัดอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ สนิทสนมกับสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันเป็นอย่างดี และสนิทสนมกับสมาชิกแห่งราชวงศ์ชั้นสูงและราชตระกูล ตลอดจนพ่อค้าคหบดี ข้าราชการ และนักการเมืองจำนวนมาก แถมยังมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกด้วย

ผมเอง สนใจหลวงตาบัวในฐานะมนุษย์ผู้หนึ่งที่มี “ความคิดสร้างสรรค์สูง” มิได้สนใจในเชิงว่าท่านเป็นพระอรหันต์หรือไม่ใช่พระอรหันต์

ผมสังเกตุเวลาท่านให้สัมภาษณ์ หรือให้ถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์ ก็เห็นว่าคำพูดและท่าทางที่แสดงออกนั้น ดุเดือดในบางครั้ง

ท่านรักใครก็แสดงความรักความเอ็นดู และท่านก็กล้าเกลียดชัง เมื่อท่านหมดรักหมดเอ็นดู ได้เหมือนกัน

ผมว่าท่านเป็นพระประเภท Creative โครงการเชิงสังคมที่ท่านทำมาอย่างหลากหลายนั้น แม้เดี๋ยวนี้จะดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในสมัยโน้นถือว่าเป็นโครงการที่ก้าวหน้า โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติ ช่วยเหลือสังคม และ CSR ที่นิยมทำกันภายหลังนั้น หลวงตาบัวท่านทำมาตั้งนานแล้ว

แน่นอน โครงการที่เป็นที่สุดของท่าน ย่อมเป็นโครงการระดมทองคำจากทั่วประเทศ แล้วหลอมบริจากให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ไว้ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ โดย Timing ของการระดมทองคำครั้งนั้นเหมาะเจาะอย่างเหลือเชื่อ เมื่อหันกลับไปพิจารณาภายใต้บริบทใหญ่ของโลก ที่ความน่าเชื่อถือของเงินดอลล่าร์เริ่มถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ และราคาทองคำตลอดจนสินทรัพย์อื่นทะยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผมถือว่าอันนี้เป็นความริเริ่มสร้างสรรค์ (Innovation) ที่มีลักษณะเป็นแบบฉบับของตัวเอง เป็นต้นแบบ มิได้ลอกเลียนใครมา (Originality) ในเชิงนโยบายสาธารณะและในเชิงเศรษฐกิจมหภาค แม้กระทั่งในเชิงการลงทุนก็ตามที

ค่อนข้างแปลกที่ Campaign แบบนี้ ถูกคิดขึ้นมาโดยพระสงฆ์

ผมสังเกตุว่าพระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่นนี้จะมีความคิดสร้างสรรค์สูง อย่างสายท่านพระอาจารย์ชา ลูกศิษย์ก็สร้างเครือข่ายออกไปยังประเทศสำคัญในโลก และนำฝรั่งมาใฝ่ธรรมจำนวนมาก

ความคิดสร้างสรรค์ของคนอีสาน ส่วนใหญ่จะมาจากความแร้นแค้นยากลำบาก หรือความทุกข์ยาก และวิธีการ ตลอดจนกระบวนทัศน์ ในการออกจากทุกข์ ขจัดทุกข์ หรือพ้นทุกข์ ของมนุษย์นี่แหละ คือบ่อเกิดหนึ่งของ Creativity

ผมเข้าใจเอาเองว่ากระบวนการทำนองนี้แหละ ที่ช่วยให้เจ้าชายสิทธารถะ ซึ่งผมว่าเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมากที่สุดหนึ่งในสามลำดับแรก ของบรรดามนุษย์ทั้งมวลที่เคยมีมา สามารถ Breakthrough ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

อีกอย่าง การที่พระธุดงค์มีโอกาสได้เดินทางท่องไปในที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง พบปะผู้คนอย่างกว้างขวางหลากหลาย พบปะสัตว์และพืช ดำเนินชีวิตอย่างสันโดดท่ามกลางธรรมชาติ ได้มีโอกาสตรึกตรองมาก สังเกตุมาก ทั้งสิ่งรอบตัวและในใจตัวเอง ย่อมช่วยหนุนเสริมให้ความคิดความอ่านกว้างขวางลึกซึ้งกว่าพระสายบ้านได้เหมือนกัน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมัยที่ยังทรงผนวดอยู่ในเพศบรรพชิต ก็ได้มีโอกาสเดินทางอย่างกว้างขวาง มากกว่ากษัตริย์พระองค์ใดในอดีตก่อนหน้านั้น จึงเกิดวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง กว้างขวาง ลึกซึ้ง จนเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินวิเทโศบายและรัฐประศาสโนบาย ที่ค่อนข้างปรีชาสามารถในเวลาต่อมา

ปฏิเสธได้ยากว่าสถาบันสงฆ์ไทยเป็นอนุรักษ์นิยมในดีกรีแรง แต่ก็ผลิตพระที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นระยะๆ

หลวงตามหาบัวคือหนึ่งในนั้น


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
7 กุมภาพันธ์ 2554

19 ธันวาคม 2555

โลกใหม่ที่ไร้วิกฤตวัฏจักรฟองสบู่อสังหาฯ และไร้ความยากจน

โลกใหม่ที่ไร้วิกฤตวัฏจักรเศรษฐกิจฟองสบู่อสังหาฯ และไร้ความยากจน เราค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเข้าหาระบบนี้ได้ ซึ่งจะทำให้มนุษย์มีความเท่าเทียมกันดีกว่าปัจจุบัน ผู้คนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงลงทุนตามส่วนกับความสามารถและความพากเพียรของเขา โดยไม่ถูกหักภาษีเงินได้และภาษีการผลิตการค้านานาชนิด ที่ไปลดรายได้และทำให้ของแพง (คือทำให้ผู้ทำงานและผู้ลงทุนยากจนลง ทั้งที่การลงแรงลงทุนผลิตและค้าได้ประโยชน์แก่ทั้งฝ่ายขายและฝ่ายซื้อ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างมากโดยวิธีแบ่งงานกันทำตามความชอบความถนัด ซึ่งรัฐควรส่งเสริม แทนที่จะลงโทษด้วยภาษี)

ส่วนที่จะเก็บภาษีมีเพียงที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และการก่อความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม สำหรับที่ดินใช้วิธีค่อยๆ เก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยลดภาษีการลงแรงลงทุนชดเชยกัน ซึ่งในที่สุด สัก 30 ปี ภาษีที่ดินก็เท่ากับค่าเช่าที่ดิน (ไม่รวมอาคารโรงเรือน พืชผล หรือสิ่งปรับปรุงต่างๆ ที่เกิดจากการลงแรงลงทุนที่ก่อผลผลิต) ความได้เปรียบเสียเปรียบกันในการได้ถือครองที่ดินมากน้อยดีเลวต่างกันจะหมดไป

ที่เสนอให้เก็บภาษีที่ดินเพราะที่ดินไม่มีมนุษย์คนใดผลิตขึ้นมา มูลค่าที่ดินเองเกิดมีขึ้นมาได้ก็เพราะการมีชุมชนและกิจกรรมของชุมชนที่ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกสบายรวดเร็วปลอดภัยต่างๆ ในการอยู่อาศัยและประกอบอาชีพ ซึ่งทำให้ที่ดินว่างเปล่าในเมืองใหญ่ค่อยๆ เพิ่มราคาจนกลายเป็นวาละเป็นแสนเป็นล้านขึ้นมา โดยเจ้าของที่ดินไม่ได้ทำอะไรให้แก่ที่ดินนี้

ถ้าภาษีที่ดินต่ำ ก็เกิดการเก็งกำไรกักตุนค้าขายที่ดิน อย่างที่เห็นกัน ไปที่ไหนก้เจอที่ดินรกร้าง แต่มีเจ้าของแล้วอยู่ทั่วไป คนจนหมดโอกาสเป็นเจ้าของที่ดิน ต้องเช่าแพง หรือขาดที่ทำกิน ต้องแย่งกันหางานทำ ค่าแรงถูกกดต่ำ ซ้ำยังมีภาษีที่ทำให้ของแพง ก็ยิ่งเดือดร้อน
ที่สำคัญ การเก็งกำไรซื้อขายที่ดิน (และบ้าน) ทำให้เกิดวิกฤตวัฏจักรเศรษฐกิจฟองสบู่เดือดร้อนกันไปทั่ว

ถ้าภาษีที่ดินสูง ผู้คนก็จะหมดอยากที่จะเก็บที่ดินไว้เกินกว่าที่จะทำประโยชน์ได้คุ้ม ราคาค่าเช่าที่ดินก็จะต่ำลง คนจนจะมีที่ดินได้ง่ายขึ้น ได้ทำกินในที่ดิน การต้องวิ่งง้อของานทำจากนายทุนก็ลด คนยากจนจะมีน้อยลง การสวัสดิการก็จะสามารถทำได้ทั่วถึงดีขึ้น
โลกใหม่นี้จะเกิดได้ด้วยระบบภาษีเดี่ยวจากที่ดินตามแนวของเฮนรี จอร์จ ครับ

18 ธันวาคม 2555

ที่ดินนิยมสามานย์

เพราะมี “ที่ดินนิยม” แทรกซ้อนเป็นกาฝากอยู่ในทุนนิยม
ภาษีที่ดินต่ำ เอื้อให้คนรวยกักตุนที่ดินกันเป็นการทั่วไป
ไปที่ไหนๆ ก็เห็นแต่ที่ดินรกร้าง แต่มีเจ้าของแล้ว
คนส่วนใหญ่ต้องจ่ายค่าที่ดิน (ปัจจัยการผลิตที่ 1) แพง
และอุปทาน (supply) ของที่ดินลด
ค่าแรง (ปัจจัยการผลิตที่ 2) จึงถูกกด
จึงทำให้ทุนนิยมดูเหมือนจะกลายเป็น “ทุนนิยมสามานย์”
ซ้ำนายทุนต้องถูกเก็บภาษีเงินได้ กำลังใจที่จะลงทุน
(ปัจจัยการผลิตที่ 3) ก็ลด
การจ้างงานก็หด ยิ่งซ้ำเติมแรงงาน
และมีภาษีการผลิตการค้าไปเพิ่มให้ของแพงขึ้นอีก
ยิ่งไปกว่านั้น การเก็งกำไรซื้อขายกักตุนที่ดินยังก่อวิกฤตฟองสบู่ซ้ำซากเป็นระยะๆ
เสียหายเดือดร้อนกันไปทั่วทั้งแผ่นดิน
นี่คือ “ที่ดินนิยมสามานย์” ต่างหาก

อทินนาทานา เวรมณี (ในปัญหาที่ดิน)

แปลจากย่อคำบรรยายเรื่อง Thou Shalt Not Steal โดย Henry George ต้นตำรับภาษีเดี่ยวจากที่ดินของสหรัฐฯ ณ นครนิวยอร์ก 8 พ.ค. 1887 (จาก http://www.cooperativeindividualism.org/george-henry_thou-shalt-not-steal-1887.html )
มีคนบอกว่าเราจะไม่สามารถทำให้ความยากจนหมดไปได้ เพราะเศรษฐทรัพย์ (wealth) มีไม่มากพอที่จะแจกจ่ายกันไป มีคนบอกว่าถ้าแบ่งเศรษฐทรัพย์ทั้งสิ้นในสหรัฐฯ  จะได้คนละ 800 ดอลลาร์เท่านั้น แต่เราไม่ได้เสนอให้ยกเลิกความยากจนโดยวิธีแบ่งเศรษฐทรัพย์ที่มีอยู่ เราเสนอให้สร้างเศรษฐทรัพย์เพิ่มต่างหาก เราเสนอให้ยกเลิกความยากจนโดยทำให้คนจำนวนมากมายเป็นกองทัพที่กระหายจะได้ทำงานสร้างเศรษฐทรัพย์ แต่ถูกทำให้หมดโอกาสที่จะทำงาน ได้ทำงาน

แล้วก็มีคนบอกเราอีกว่าจะไม่สามารถยกเลิกความยากจนได้ เพราะได้มีความยากจนตลอดมา ดีแล้ว ถ้าได้มีความยากจนตลอดมา ก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้นที่เราต้องเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกความยากจน มันมีมานานมากพอแล้ว เราควรจะเหนื่อยหน่ายความยากจน ขอให้เรากำจัดมันเสีย แต่ข้าพเจ้าปฏิเสธว่าไม่ได้มีความยากจนตลอดมา ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์โลกมาเลยที่จะมีเศรษฐทรัพย์มากมายเช่นนี้  ที่จะมีพลังการผลิตเศรษฐทรัพย์มากมายเช่นนี้ มากมายเสียจนคนที่บอกว่าจะไม่สามารถยกเลิกความยากจนได้ กลับให้เหตุผลแทบในลมหายใจต่อมาว่าเป็นเพราะภาวะการผลิตมากเกินไป (overproduction)  นั่นก็เหมือนว่าพวกเขาบอกว่ามนุษย์ผลิตเศรษฐทรัพย์มากเกินไปจึงทำให้มีคนต้องยากจนลงจำนวนมาก ว่าเพราะสิ่งที่บำบัดความต้องการของมนุษย์ได้ถูกผลิตออกมามากเกินไปแล้ว ผู้คนจึงหางานทำไม่ได้ และสตรีจึงต้องทำงานที่น่าเบื่อและเคร่งเครียด ความยากจนถูกอ้างว่าเป็นเพราะภาวะการผลิตมากเกินไป ความยากจนในท่ามกลางเศรษฐทรัพย์ ความยากจนในท่ามกลางความเรืองปัญญา (enlightenment) ความยากจนขณะที่การค้นคิดประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรงนับพันชนิด (ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในโลก) ได้ถูกนำมาช่วยมนุษย์
มีคนบอกเราว่าการกุศลจะช่วยคนจนได้ อย่างไรก็ดี ทุกคนที่รู้จักคิด ทั้งหญิงและชาย ย่อมมองเห็นว่าเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิงที่จะถอนรากถอนโคนความยากจนด้วยการกุศล และทุกคนที่จะค้นหาสาเหตุของความป่วยไข้จนถึงรากเหง้าจะพบว่าสิ่งที่จำเป็นมิใช่การกุศล แต่คือความยุติธรรม – การทำให้สถาบันต่างๆ ของมนุษย์สอดคล้องกับกฎนิรันดร์แห่งสิทธิ ผู้ที่โจมตีแนวคิดของเราได้ตั้งพระผู้เป็นเจ้าของตนเองขึ้นมาซึ่งค่อนข้างจะทรงโปรดความยากจน เพราะมันทำให้คนรวยมีโอกาสแสดงความดีและความกรุณาของตน
บรรดากฎแห่งเอกภพนี้คือกฎของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งกฎทางสังคมและกฎทางกายภาพ และพระองค์ พระผู้สร้างสรรพสิ่ง ได้ประทานที่ว่างให้เราทุกคน งานสำหรับทุกคน ความอุดมสมบูรณ์สำหรับทุกคน ถ้าปัจจุบันพวกเราต้องอยู่ในสถานที่แออัดจนดูเหมือนว่ามีพลเมืองมากเกินไปในโลก ถ้าปัจจุบันคนหลายพันผู้ยินดีทำงาน หาโอกาสทำงานไม่ได้ ถ้าปัจจุบันคนต้องแย่งกันหางานทำจนค่าจ้างลดลงถึงขั้นทำให้อดตาย ถ้าปัจจุบัน ท่ามกลางเศรษฐทรัพย์ล้นเหลือ ในศูนย์แห่งอารยธรรมต่างๆ ของเรา ยังมีมนุษย์ที่มีสภาพเลวกว่าคนป่าในยามปกติ นั่นมิใช่เพราะพระผู้สร้างทรงตระหนี่ถี่เหนียว แต่เป็นเพียงเพราะความไม่เป็นธรรมของพวกเราเอง
คนในกลุ่มพวกเราผู้แสวงหาความยุติธรรมจะเสนอสิ่งที่มิใช่ของใหม่ พวกเราเสนอให้ยกเลิกความยากจนด้วยวิธีให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา ด้วยการให้สิทธิที่เป็นธรรมแก่ทุกคน เราเสนอที่จะไม่รบกวนสิทธิที่เป็นธรรมในเศรษฐทรัพย์ เราคือผู้พิทักษ์และผู้เชิดชูสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ในเศรษฐทรัพย์ สิทธิในเศรษฐทรัพย์ซึ่งติดมาอย่างเป็นธรรมกับทุกสิ่งที่แรงงานผลิต สิทธิที่ให้ทุกคนสามารถอ้างอย่างเป็นธรรมในสิ่งที่ตนได้ผลิตขึ้นมาตราบที่เขามิได้ทำร้ายผู้อื่น

"Thou shalt not steal." อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ปัจจุบันเขาตีความศีลที่ยิ่งใหญ่ข้อนี้กันอย่างไร แม้แต่ผู้ที่ทำทีเทศน์คำสั่งสอน? เขาหมายความว่า “อย่าขโมยเงินสองสามดอลลาร์-นั่นอาจเป็นอันตราย แต่ถ้าเจ้าขโมยเงินล้านและหลบพ้นความผิดไปได้ เจ้าจะได้เป็นพลเมืองชั้นที่หนึ่งของเรา”
ยังมีการขโมยรูปแบบอื่นๆ อีก คาราวานขบวนหนึ่งกำลังเดินทางในทะเลทราย พวกโจรบอกกันว่ามีคาราวานที่ร่ำรวยกำลังเดินทางมา และชวนกันไปปล้น โจรอีกคนหนึ่งแนะให้ไปหาบริเวณที่มีแหล่งน้ำเพียงแห่งเดียว แล้วทำกำแพงล้อม อ้างสิทธิเป็นเจ้าของ เมื่อคาราวานมาถึง ก็จะไม่ยอมแบ่งปันน้ำให้ นอกจากคาราวานนั้นจะยอมยกสินค้าทั้งหมดให้โจร

แต่มันเป็นการขโมยต่างชนิดออกไปหรือ? เมื่อบางคนล่วงหน้าไปก่อนประชากร แล้วเข้าครองที่ดินโดยมิได้ทำประโยชน์อันใด เมื่อประชาชนมาตั้งถิ่นฐานและประชากรเพิ่มมากขึ้นก็ไม่ยอมให้ประชากรที่เพิ่มขึ้นเข้าใช้ที่ดิน นอกจากจะยอมจ่ายค่าที่ดินแพงลิบลิ่ว นั่นเป็นการขโมยแบบเดียวกับที่กระทำต่อครอบครัวแรกๆ ของเรา

เด็กที่เกิดใหม่ทุกคนมิใช่ผู้ที่เพิ่มมูลค่าของที่ดินหรือ? ดังนั้นเด็กไม่ควรได้รับส่วนแบ่งจากผลประโยชน์นี้หรือ? และจะไม่เป็นการอยุติธรรมต่อเด็กหรือ เมื่อมีการยอมให้ผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษรับผลประโยชน์นี้ไป?
วิธีทำให้เกิดสิทธิเท่าเทียมกันในที่ดินมิใช่การตัดแบ่งที่ดินให้เป็นแปลงเล็กๆ เท่าๆ กัน แต่พึงใช้วิธีเก็บมูลค่าที่เพิ่มเข้ามาติดอยู่กับที่ดินเอาไปใช้เพื่อการสาธารณะ เรา (ประชาคม) ไม่จำเป็นต้องรบกวนผู้ถือครอง ไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับอาคารหรือสิ่งปรับปรุง (improvement) ของผู้ใด ทั้งหมดที่เราต้องทำมีเพียงยกเลิกภาษีจากสิ่งปรับปรุงทั้งสิ้น จากเศรษฐทรัพย์ทุกรูปแบบ ทั้งหมดที่เราต้องทำมีเพียงเก็บภาษีจากมูลค่าที่ดิน ไม่รวมสิ่งปรับปรุง ดังนั้น ผู้ที่ถือครองที่ดินแปลงหนึ่งจะจ่ายภาษีเท่ากัน ไม่ว่าที่ดินนั้นจะมีหรือไม่มีอาคารก็ตาม
เราสามารถปล่อยให้เจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์อยู่ได้ตามเดิม เจ้าของที่ดินอาจจะเรียกตนเองว่าเจ้าของที่ดินนั้น ทั้งหมดที่เราต้องการคือเก็บภาษีมูลค่าที่ดิน [อาจใช้เวลานานหน่อย ค่อยๆ เพิ่มก็ได้ – ความเห็นของผู้แปล]

เรามีการต่อสู้ที่ยาวนานและยากลำบากรออยู่ อาจจะเป็นไปได้ น่าจะเป็น สำหรับพวกเราจำนวนมาก เราอาจไม่ประสบความสำเร็จเลย แต่มีอะไร? มันคือเอกสิทธิ์ที่จะได้ร่วมในการต่อสู้เช่นนี้ ข้อนี้เราอาจรู้ ว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ ทั่วโลก ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งผู้ยุติธรรมและคนดีของทุกยุคสมัยได้เข้าร่วม.
(บทความเรื่องนี้ฉบับเต็มภาษาอังกฤษ ดูได้ที่ http://homepage.ntlworld.com/janusg/hgh/steal.htm )

เศรษฐศาสตร์แนวจอร์จ (Georgist Economics)

เศรษฐศาสตร์แนวจอร์จ (เฮนรี จอร์จ) Georgist Economics ปัจจัยการผลิตแบ่งเป็น 3 ปัจจัย คือ

          1.ที่ดิน
          2.แรงงาน (มนุษย์)
          3.ทุน

          การจัดการหรือการประกอบการ ซึ่งทางบริหารมักจะถือเป็นปัจจัยที่ 4 นั้น ที่จริง คือ แรงงาน ซึ่งมีทั้งทางสมองและทางกาย

          จอร์จบอกว่า ที่ดินควรเป็นของส่วนรวม รัฐทำหน้าที่เก็บภาษีที่ดิน (ก็ค่าเช่าที่ดินนั่นเอง) เอามาบำรุงส่วนรวม เพราะมูลค่าที่ดิน ส่วนใหญ่เกิดจากการมีชุมชน กิจกรรมของแต่ละคนที่กระทำ โดยสุจริต แม้จะเพื่อประโยชน์ตนเอง แต่ที่จริงเป็นความร่วมมือกัน เพื่อบำบัดความต้องการของทุกคนที่เข้ามาร่วมมือกันในการผลิตและค้าสินค้าและบริการ ส่วนมากก็โดยการแบ่งงานกันทำ (division of labour) ทำให้เกิดความรู้ความชำนาญเฉพาะอย่างแบบที่ต้องเล่าเรียนกันสูง ๆ ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งเกิดเครื่องมืออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อธุรกิจและขนส่งสินค้า

          การที่คนเราแต่ละคนทำเพื่อตนเองแต่ส่งผลดีต่อส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพเช่นนี้ แอดัม สมิธ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ เปรียบว่าเป็น มือที่มองไม่เห็น (invisible hand) ซึ่งเฮนรี จอร์จบอกว่าทำให้เกิดมูลค่าซึ่งเข้าไปเกาะติดอยู่กับที่ดินในชุมชน ยิ่งชุมชนหนาแน่น ยิ่งเครื่องมืออำนวยความสะดวกก้าวหน้า ประสิทธิภาพการผลิตยิ่งสูง ซึ่งก็ทำให้มูลค่าที่ดินยิ่งสูงขึ้นอีกต่อหนึ่งมูลค่านี้เป็นผลพลอยได้จากการทำเพื่อประโยชน์ของตนเองซึ่งกลายเป็นการร่วมมือกันโดยอัตโนมัติ คนไหนขายของเลวราคาแพงก็ไม่มีคนซื้อ

ลัทธิจอร์จเป็นสังคมนิยมเมื่อมองในแง่ที่ดิน

          ถ้าไม่เก็บภาษีที่ดิน เจ้าของที่ดินจะได้รับประโยชน์ไปที่เรียกว่าเป็นรายได้ที่มิได้ลงทุนลงแรง (unearned income) และทำให้ต้องหันไปเก็บภาษี เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีกำไร (ซึ่งทำให้รายได้สุทธิของผู้ทำงานและผู้ลงทุนลดลง) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ทำให้ของแพง) ซ้ำกลับเกิดผลเสียใหญ่หลวงคือการเก็งกำไรเก็บกักที่ดินหวังราคาที่จะสูงขึ้นในอนาคต ไปที่ไหน ๆ ก็เจอแต่ที่ดินมีเจ้าของแล้ว ที่ดินกลายเป็นของหายาก ค่าเช่าที่อยู่ที่ทำกินมีอัตราสูงเกินกว่าระดับที่ควร (ส่วนแบ่งการผลิตสำหรับผู้ลงแรงลงทุนต่ำกว่าระดับที่ควร) ผู้คนหางานทำยาก ค่าแรงก็ต่ำ และยังทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวรุนแรง ขาลงจะก่อความเสียหายมากมายคนจนยิ่งทุกข์ยากหนักขึ้น (วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ก็เป็นเพราะการเก็งกำไรที่ดินเหมือนครั้งก่อน ๆ แต่รุนแรงกว้างขวางขึ้นจากการมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ขึ้นมา) เหตุดังกล่าวคือสิ่งขวางกั้นสำคัญต่อการทำงานของมือที่มองไม่เห็นของแอดัม สมิธ

          แต่ลัทธิจอร์จก็เป็นแรงงานนิยมและทุนนิยมด้วยอย่างแรงเพราะต้องการให้ผู้ทำงานและผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนเต็มที่ ไม่มีภาษีประเภทที่ไปลดรายได้และไปเพิ่มรายจ่าย (ราคาสินค้า)

          ถ้าเป็นไปตามลัทธิจอร์จ จะไม่มีชนชั้นเจ้าของที่ดินเพราะที่ดินเป็นของส่วนรวมด้วยวิธีการภาษีซึ่งจะขจัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการมีที่ดินมากน้อย ดีเลว ผิดกันให้หมดไป

นายทุนกับแรงงานมีผลประโยชน์ร่วมกัน

          นายทุนกับผู้ใช้แรงงานมีผลประโยชน์ร่วมกันก็เพราะค่าแรงกับดอกเบี้ยจะสูงขึ้นหรือต่ำลงไปด้วยกัน เหตุที่ดอกเบี้ยสูงขึ้นหรือต่ำลงตามค่าแรงก็เพราะทุนกับแรงงานเป็นประหนึ่งสิ่งเดียวกัน เพราะทุนเกิดมีขึ้นได้ด้วยการใช้แรงงาน ทุนคือแรงงานในอดีต คือแรงงานที่ได้ใช้ไปแล้วเพื่อการผลิต แต่นำมาใช้ประโยชน์ภายหลัง บางท่านเรียกทุนว่า คือ แรงงานที่สะสมไว้ (Stored-up Labour)

ความต้องการใช้แรงงาน พอจะแบ่งออกได้ดังนี้

          1) เพื่อบริการ
          2) เพื่อผลิตโภคทรัพย์ (คือ เศรษฐทรัพย์ที่มิใช่ทุน)
          3) เพื่อผลิตทุน (รวมทั้งซ่อมแซมทุนที่มีอยู่แล้วด้วย)

          แรงงาน 3 ประเภทนี้เปลี่ยนแปลงถ่ายเทกันได้พอสมควร สมมติว่าปกติ อัตราส่วนระหว่างค่าแรงกับดอกเบี้ยอยู่ที่จุดสมดุลอันหนึ่ง ต่อไปถ้าเจ้าของทุนจะเรียกร้องเอาผลตอบแทน คือดอกเบี้ยสูงขึ้นหรือค่าแรงถูกกดให้ต่ำลงไปจากจุดสมดุล ความต้องการแรงงานตามข้อ 1), 2) จะมากขึ้น เพราะค่าแรงต่ำลง ความต้องการแรงงานตามข้อ 3) เพื่อผลิตทุนขึ้นมาใช้แทนแรงงาน ก็จะมากขึ้นด้วย เพราะทั้งค่าแรงก็ต่ำลง และเพื่อให้ได้ทุนซึ่งมีดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ความต้องการใช้ทุนจะกลับลดลง เพราะต้องเสียดอกเบี้ยสูงขึ้นในขณะเดียวกันเจ้าของทุนจะเสนอให้มีการใช้ทุนของตนมากขึ้น แต่ผู้ใช้แรงงานจะเสนอแรงงานน้อยลง

          กล่าวอีกแนวหนึ่ง ถ้าเครื่องจักรกลทุ่นแรง (คือ ทุน) แพงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรง ผู้ประกอบการก็จะไม่ซื้อเครื่องจักรกลนั้นมาใช้ แต่จะจ้างคนทำงานแทนเครื่องจักรกลให้มากขึ้น ผลจากการนี้จะทำให้ค่าแรงกลับสูงขึ้น และดอกเบี้ยลดต่ำลงเข้าหาดุลยภาพดังเดิม

          ตรงกันข้าม ถ้าดอกเบี้ยต่ำกว่าจุดสมดุล หรือค่าแรงสูงกว่า ความต้องการใช้ทุนแทนแรงงานก็จะเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการแรงงานเพื่อผลิตทุนตามข้อ 3) จะลดลง ความต้องการแรงงานตามข้อ1), 2) ก็จะลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ดุลยภาพกลับคืนมาใหม่

          คำอธิบายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายทุนกับผู้ใช้แรงงานมีผลประโยชน์ที่จะต้องรักษาร่วมกัน ไม่ใช่ขัดกันอย่างที่คนทั่วไปหรือคอมมิวนิสต์เข้าใจ  ส่วนความพยายามที่จะให้ตนเองได้รับผลตอบแทนมากกว่าผู้อื่นหรือฝ่ายอื่น ทำให้เกิดการแก่งแย่ง การต่อรองกันนั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน แต่รัฐก็ต้องออกกฎหมายและควบคุมดูแล  ถ้าผู้ใดเป็น ทุนนิยม ผู้นั้นจะเป็น แรงงานนิยม ด้วย หรือจะเรียกว่าเป็นแรงงาน-ทุนนิยม ก็ได้

          โปรดระลึกด้วยว่า การรับจ้างทำงานในโรงงานเป็นเพียงอาชีพเดียวในหลายๆ อาชีพของผู้ใช้แรงงาน ผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยมิได้ทำงานในโรงงาน ผู้ใช้แรงงานหลายคนใช้ทุนของตนเอง (ถึงแม้บางคนจะต้องกู้เขามาลงทุน) เช่น ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ผู้เลี้ยงสัตว์ ช่างต่างๆ ผู้ทำอุตสาหกรรมในครอบครัว ผู้ประกอบธุรกิจหรือการค้าเล็กๆ น้อยๆ ผู้ให้บริการหรือผู้ทำการผลิตรายย่อย และบุคคลที่กล่าวแล้วนี้ก็ยังจ้างให้ผู้อื่นช่วยทำงานอยู่ด้วยไม่ใช่น้อย ขอให้ดูตัวอย่างร้านอาหารจำนวนมาก นอกจากพนักงานเดินโต๊ะแล้ว ยังมีคนครัว คนล้างชาม เป็นต้น นอกจากนั้นผู้ประกอบอาชีพหนึ่งก็อาจเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ จึงไม่ใช่ว่าผู้ใช้แรงงานจะต้องพึ่งพานายทุนเจ้าของโรงงานอย่างมากมายเกินไปนัก

          ความจริงอีกข้อหนึ่ง ถ้ามีการลงทุนน้อยลง ตำแหน่งงานก็จะน้อยลง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าความร่วมมือในการผลิตระหว่างแรงงานกับทุนลดลง ประสิทธิภาพในการผลิตก็จะต่ำ พลอยทำให้ค่าแรงลดลงด้วย  ซึ่งนี่ก็หมายความว่าหากมีปัจจัยใดมาทำให้ผู้ลงทุนได้กำไรน้อยลง ก็จะมีผู้ลงทุนน้อยลง ซึ่งพลอยทำให้เสียประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานไปด้วย ผลประโยชน์ของนายทุนกับผู้ใช้แรงงานจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

          ข้อคิดอีกข้อหนึ่งก็คือ ในประเทศด้อยพัฒนานั้นก็กล่าวกันว่าการมีทุนหรือเครื่องจักรกลน้อยเป็นสาเหตุของความยากจน แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศที่พัฒนาแล้วมีทุนหรือเครื่องจักรกลมากมาย ความยากจนก็มีให้ต้องคอยหาทางแก้ไขและป้องกันกันตลอดเวลา มาด้วยกฎหมายและระเบียบวิธีการต่าง ๆ

          ขอกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารสำหรับเงินตรา (ซึ่งถือกันว่ามิใช่ทุนที่แท้จริง) จะขึ้นลงไปตามดอกเบี้ยสำหรับทุนที่แท้จริง เพราะถ้าทุนที่แท้จริงให้ดอกเบี้ยต่ำลงก็จะไม่มีใครอยากกู้เงินจากธนาคารไปลงทุน หากอัตราดอกเบี้ยธนาคารยังสูงคงเดิม ธนาคารก็จำเป็นจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยที่จะคิดจากผู้กู้ลง และก็จะต้องมาลดอัตราดอกเบี้ยที่คิดให้แก่ผู้ฝากลงอีกต่อหนึ่ง โดยทำนองตรงข้าม ถ้าทุนที่แท้จริงให้ผลตอบแทนสูง อัตราดอกเบี้ยธนาคารก็จะสูงขึ้นด้วย



 

 

 
นายทุนกับผู้ใช้แรงงานปัจจุบันจะดูเหมือนอยู่กันคนละฝ่าย

          นายทุนกับผู้ใช้แรงงานปัจจุบันจะดูเหมือนอยู่กันคนละฝ่าย  แต่ที่จริง นายทุนกับผู้ใช้แรงงานอยู่ฝ่ายเดียวกัน และมีเจ้าของที่ดินอยู่ฝ่ายตรงกันข้าม ฝ่ายนี้ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นๆ จากราคา-ค่าเช่าที่ดิน(ไม่รวมอาคารซึ่งถือเป็นทุน) ที่สูงขึ้นจากความเจริญก้าวหน้าทั้งหลาย และบริการสาธารณะที่ใช้ภาษีจากราษฎรทั่วไป ส่วนใหญ่ภาษีได้จากการลงทุนลงแรงผลิตและแลกเปลี่ยนขายซื้อ ซึ่งการลงทุนลงแรงดังนี้ถูกหลักของการแบ่งงานกันทำ อันเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสนองความต้องการของตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก่อให้เกิดความอยู่ดีกินดี และอารยธรรม ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของรัฐเอง รัฐจึงควรสนับสนุน และจึงไม่ควรเก็บภาษีจากการลงทุนลงแรงผลิตและแลกเปลี่ยนขายซื้อ แต่ควรเก็บภาษีจากการถือครองที่ดิน

          นอกจากค่าเช่า-ราคาที่ดินจะสูงขึ้นด้วยความเจริญก้าวหน้าทั้งหลายและบริการสาธารณะ ตลอดจนการมีพลเมืองหนาแน่นขึ้นแล้ว ยังเป็นเพราะการเก็งกำไรเก็บกักปิดกั้นที่ดินไว้อีกอย่างหนึ่ง ทำให้ส่วนแบ่งที่ไปสู่เจ้าของที่ดินนั้นสูงเกินกว่าที่ควร และนายทุนและผู้ใช้แรงงานได้รับน้อยกว่าที่ควร ซึ่งนายทุนต้องรับหน้าอยู่ ทำให้ดูเหมือนนายทุนเป็นผู้กดค่าแรง จึงดูเหมือนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้ใช้แรงงาน แต่ก็มีนายทุนที่ขูดรีดผู้ใช้แรงงานได้จริง เพราะผู้ใช้แรงงานอ่อนแอมาแล้วจากการต้องจ่ายค่าเช่าสูงเกินกว่าที่ควร และต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในรูปของสินค้าที่แพงขึ้น เมื่อถึงคราววิ่งหางาน นายจ้างกำหนดค่าแรงเท่าไรก็ต้องรับไว้ก่อน มิฉะนั้นอาจอดตาย เมื่อไปขอกู้เงิน นายทุนเงินกู้เรียกดอกเบี้ยโหด ๆ ก็ต้องยอม ฯลฯ

          แต่เมื่อมีการใช้ระบบภาษีที่ดินเต็มที่และเลิกภาษีจากการลงแรงลงทุน คนจนผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่จะมีฐานะดีขึ้น ไม่ต้องพึ่งนายจ้างและนายทุนเงินกู้อย่างมากอีกต่อไป

          คนหนึ่งๆ อาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้ง 3 อย่าง (ที่ดิน แรงงาน ทุน) หรือ 2 อย่างก็ได้ แต่ในการพิจารณาให้เกิดความเข้าใจ เราก็จะต้องแยกพิจารณากันเป็นส่วนๆ ไป.

แก้ปัญหาที่ดินได้ปัญหานายทุนกดค่าแรงจะหมดไปด้วย

          ชนชั้นปัจจุบันยังไม่ได้เหลือสอง คือ ผู้ใช้แรงงาน กับ นายทุน เท่านั้น ชนชั้นเจ้าของที่ดินยังมีอยู่และมีอิทธิพลสูง เฉพาะชนชั้นเจ้าของที่ดินเท่านั้นที่ขัดผลประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน และขัดผลประโยชน์กับนายทุนด้วย ที่จริง คนเดียวอาจเป็น ๒ หรือทั้ง ๓ ฐานะ คือ เจ้าของที่ดิน ผู้ใช้แรงงาน และ นายทุน (ผู้ประกอบการคือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งใช้แรงสมองเป็นส่วนมาก) แต่เมื่อจะพิจารณาเรื่องเช่นนี้ เราก็ต้องแยกทั้ง ๓ ฐานะออกจากกัน

          คนในสังคมไม่ว่าจะชนชั้นไหนไม่ควรจะต้องเป็นศัตรูทำลายล้างกัน ระบอบประชาธิปไตยขณะนี้ได้พัฒนาขึ้นมากแล้ว ภาคประชาชนก็เข้ามีส่วนร่วมตรวจสอบพฤติการณ์ของฝ่ายบริหารอย่างแข็งขันขึ้น ขอเพียงให้วิธีแก้ไขอย่างถูกต้องในปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านที่ดินและภาษี อันเป็นฐานรากที่แผ่กว้างทั่วสังคมมนุษย์ ได้เป็นที่รู้กันแพร่หลายเท่านั้น แล้วประชาธิปไตยจะแก้ไขนำความอยู่ดีกินดีมาให้เอง

          น่าเสียดายที่รัสเซียและประเทศในยุโรปตะวันออกซึ่งได้ละทิ้งระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ส่วนมากไม่ได้คิดดึงเอาที่ดินไว้เป็นของรัฐต่อไป ถ้าประเทศเหล่านี้เพียงแต่เก็บภาษีเท่ากับค่าเช่าที่ดินตามที่ประเมินได้ว่าควรจะเป็นเท่าใด (ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ทำเล) ไม่ว่าผู้ถือครองจะให้เช่าหรือใช้ทำประโยชน์เองหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งค่าภาคหลวงจากการนำทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ (ซึ่งเป็นแบบหนึ่งของภาษีที่ดิน) ที่ส่วนใหญ่จะได้จากการลงทุนของต่างชาติ ก็จะได้ภาษีมากพอที่จะยกเลิกภาษีอื่น ๆ ได้หลายอย่าง (รวมทั้งภาษีเงินได้ และภาษีที่มีแต่ไปเพิ่มราคาสินค้าให้แพงขึ้น) ซึ่งก็จะทำให้ผู้ทำงานมีเงินได้สุทธิเพิ่มขึ้น และของกินของใช้ราคาถูกลง ก่อความอยู่ดีกินดีแก่คนหมู่มาก แต่มีคนเตือนว่านักลงทุนต่างชาตินั่นแหละจะล้อบบี้ไม่ให้ตนเองต้องจ่ายภาษีที่ดิน

          ระบบปัจจุบันเอื้ออำนวยให้เจ้าของที่ดินได้รับประโยชน์ไปโดยไม่ต้องทำอะไร วันเวลาผ่านไป บ้านเมืองเจริญขึ้น ราคา/ค่าเช่าที่ดินก็สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ  ใคร ๆ ที่พอมีเงินเห็นดังนี้ก็พากันซื้อหาที่ดินเก็บกักกันไว้ หวังราคา/ค่าเช่าที่จะสูงขึ้น เป็นการรวมหัวผูกขาดที่กว้างขวางที่สุดโดยไม่ต้องนัดหมาย ไปที่ไหน ๆ ก็เจอแต่ที่ดินมีเจ้าของแล้วแทบทั้งนั้น คนจนก็ยิ่งลำบากมากขึ้นในการจะขวนขวายหาที่ดินเป็นของตนเอง มิหนำซ้ำยังต้องจ่ายค่าเช่าสูงขึ้นเพราะการเก็งกำไรเก็บกักที่ดินกันทั่วไปนี้

          การที่เจ้าของที่ดินแต่ละคนมีที่ดินมากเกินส่วนเฉลี่ยย่อมเป็นการบั่นทอนสิทธิในที่ดินของคนส่วนที่เหลือ ซึ่งที่ดินนั้นจำเป็นเสมอต่อการเป็น “ที่อยู่อาศัย” และ “ประกอบอาชีพ”
ที่ดินเป็นเงื่อนไขของชีวิต ขาดที่ดิน ชีวิตก็ดับ

          การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการสืบต่อสิทธิในสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากการลงทุนลงแรงผลิต หากราชการเก็บภาษีเท่าค่าเช่าที่ดินประเมิน โดยมีการประเมินใหม่เป็นระยะ ๆ การเก็งกำไรที่ดินจะหายไป ราคา/ค่าเช่าที่ดินส่วนที่สูงเกินจริงจะหายไป ที่ดินจะเปิดออกให้คนได้เข้าทำกินมากขึ้น และการเลิก/ลดภาษีอื่น ๆ จะเป็นแรงกระตุ้นจูงใจให้มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น การต้องพึ่งพานายจ้างจะลด การว่างงานจะลด การต้องแย่งกันหางานทำจะลด ค่าแรงจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่มาจากการลดของราคา/ค่าเช่าที่ดินและส่วนที่เจ้าของที่ดินเคยได้ไป นายทุนเองก็จะไม่สามารถกดค่าแรงไว้ได้เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป แต่นายทุนก็ได้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนต่อทุนสูงขึ้น เหมือนค่าแรง จากการที่ราคา/ค่าเช่าที่ดินลดและการลดภาษีอื่น ๆ

          แต่การเปลี่ยนแปลงฮวบฮาบจะก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดิน การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีเช่นนี้จึงควรค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลา ๒๐–๓๐ ปี ซึ่งเจ้าของที่ดินจะต้องเปลี่ยนฐานะเป็นนายทุนหรือผู้ใช้แรงงานไป

          คาร์ลมาร์กซ์กล่าวไว้ว่า Monopoly of land is the basis of monopoly in capital.
          นี่แปลว่า ถ้า Monopoly of land หมดไปแล้ว ก็ไม่มี monopoly in capital ใช่ไหม ?
          นั่นคือ นายทุนจะไม่สามารถกดค่าแรงไว้ได้

จากเว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม http://geocities.com/utopiathai (ปัจจุบัน 12 มี.ค. 53 เปลี่ยนเป็น http://utopiathai.webs.com )

ค้นจาก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=utopiathai&date=20-12-2008&group=1&gblog=58

กฎธรรมชาติด้านเศรษฐศาสตร์

กฎธรรมชาติคือประพจน์หรือข้อเสนอ (proposition) อันเป็นสากลหรือเป็นการทั่วไปสำหรับเนื้อหาวิชา (subject matter) หนึ่งๆ กฎธรรมชาติทางวิทยาศาสตร์ประกอบด้วยประพจน์ต่างๆ ที่อธิบายความสม่ำเสมอ (regularities) ที่สังเกตเห็น ทางเศรษฐศาสตร์ก็มีความสม่ำเสมอขั้นพื้นฐานอยู่บางเรื่องซึ่งกำหนดให้เป็นกฎธรรมชาติด้านเศรษฐศาสตร์ กฎเหล่านี้รวมถึง

 


 

1. กฎอุปสงค์ (law of demand) เมื่อสินค้าอย่างหนึ่งมีราคาต่ำลง ความต้องการสินค้านั้นเชิงปริมาณจะไม่ลด แต่โดยปกติจะกลับเพิ่มขึ้น กฎอุปสงค์ปกติจะใช้กับกรณีการใช้สินค้าราคาถูกแทนสินค้าราคาแพงเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงราคาสัมพัทธ์ แต่ก็ใช้ได้กับเศรษฐกิจส่วนรวมด้วย คือเมื่อระดับราคาสินค้าส่วนรวมต่ำลง ถ้าปริมาณเงินตราคงที่ จะมีการซื้อสินค้าเป็นปริมาณมากขึ้น

 


 

2. กฎอุปทาน (law of supply) เมื่อสินค้าอย่างหนึ่งมีราคาสูงขึ้น การผลิตสินค้านั้นจะไม่ลดลง แต่โดยปกติจะกลับเพิ่มขึ้น

 

3. กฎผลตอบแทนลดน้อยถอยลง (law of diminishing returns) หรือกฎผลิตภาพหน่วยท้ายสุดลดลง (law of decreasing marginal productivity) ถ้าให้ปริมาณปัจจัยการผลิตอื่นๆ คงที่ และปริมาณของปัจจัยการผลิตปัจจัยหนึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดผลผลิตหน่วยท้ายสุดจะลดลง

 


 

4. กฎราคาเดียว (law of one price) ในตลาดเสรีที่มีประสิทธิภาพ ราคาของสินทรัพย์ทางการเงินจะมีแนวโน้มเป็นราคาเดียวที่สมดุลเนื่องจากการซื้อและขายในต่างตลาดเวลาเดียวกัน (arbitrage)

 


 

5. กฎของเกรแชม (Gresham's law) เงินเลว [ทำด้วยโลหะที่มีราคาต่ำ] จะไล่เงินดีออกไปเมื่อเงินเลวเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender)

 


 

6. กฎการไหลกลับ (law of reflux) ในการธนาคารของระบบตลาดเสรีที่มีการแข่งขัน การออกธนบัตรมากเกินควรจะเป็นอยู่ได้ไม่ถาวรเพราะส่วนที่เกินจากปริมาณที่ต้องการจะถูกไถ่ถอนคืน

 


 

7. กฎอุปทานและอุปสงค์ (law of supply and demand) ในระบบตลาดเสรี ราคาสมดุลของสินค้าอย่างหนึ่งคือราคาที่ปริมาณอุปทานเท่ากับปริมาณอุปสงค์

 


 

8. กฎอรรถประโยชน์หน่วยท้ายสุดลดน้อยถอยลง (law of diminishing marginal utility) เมื่อผู้หนึ่งได้รับสินค้าอย่างหนึ่งมากขึ้นๆ ในที่สุดอรรถประโยชน์หน่วยท้ายสุด (คุณค่าจากอีกหนึ่งหน่วยที่เพิ่มขึ้น) สำหรับเขาจะลดลง

 


 

9. กฎผลลัพธ์ที่ไม่มีเจตนา (law of unintended consequences) การกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะคือการกระทำของรัฐบาล ก่อให้เกิดผลลัพธ์ซึ่งผู้กระทำไม่มีเจตนาและมิได้คาดไว้ก่อน

 


 

10. กฎการคาดหวังซ้ำ (law of iterated expectations) เราไม่อาจใช้ข่าวสารที่มีจำกัดในอดีตเพื่อทำนายความผิดพลาดในการพยากรณ์ที่เราจะกระทำถ้าเรามีข่าวสารดีกว่าในภายหลัง

 


 

11. กฎของเองเกล (Engel's law) สัดส่วนของรายได้ที่ใช้เป็นค่าอาหารในระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆ ย่อมเป็นสัดส่วนผกผันกับสภาพความอยู่ดีกินดีทั่วไปของสังคมในระบบเศรษฐกิจนั้น

 


 

12. กฎของวากเนอร์ (Wagner's law) เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้น การใช้จ่ายของรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่า

 


 

13. กฎความไม่เท่าเทียมกันของโฟลด์แวรี (Foldvary's law of inequality) ความไม่เท่าเทียมกันจะเท่ากับการกระจุกตัวของการกระจายรายได้คูณด้วยจำนวนหน่วย  (I=CN)

 


 

14. กฎตลาดเสรีของเซย์ (Say's law of markets) อุปทานสินค้าจะทำให้การจ่ายค่าปัจจัยการผลิตมีจำนวนเท่ากับมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นปริมาณรวมด้านอุปทานจะเท่ากับปริมาณรวมด้านอุปสงค์

 


 

15. กฎความพึงใจด้านเวลา (law of time preference) คนเรามักพอใจที่จะได้สินค้าโดยเร็วและจะยอมจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ (premium) เพื่อร่นเวลาซื้อจากอนาคตมาเป็นปัจจุบัน

 


 

16. กฎของตลาด (law of the market) ข้อความที่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดกล่าวจะถือกันว่าเป็นความจริง และจะถือกันว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผล ยกเว้นถ้ากล่าวเป็นอย่างอื่น

 


 

17. กฎวิภาคกรรมของพาเรโต (Pareto's law of distribution) มีแนวโน้มทั่วไปที่ร้อยละ 80 ของผลลัพธ์เกิดจากร้อยละ 20 ของสาเหตุ ซึ่งมักเป็นในกรณีของทรัพย์สิน ร้อยละ 80 ของทรัพย์สินถูกครอบครองโดยร้อยละ 20 ของประชากร

 


 

18. กฎต้นทุน (law of cost) ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายทั้งปวงคือค่าเสียโอกาส ต้นทุนที่แท้จริงคือสิ่งที่เสียไปเพื่อให้ได้บางสิ่งมา

 


 

19. กฎความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (law of comparative advantage) การค้าเกิดขึ้นเพราะผู้เข้าร่วมมีความชำนาญในผลิตภัณฑ์ที่ตนมีค่าเสียโอกาสต่ำ แทนที่จะเป็นเพียงมีต้นทุนแท้จริงต่ำ

 


 

20. กฎค่าแรง (law of wages) ระดับค่าแรงของเศรษฐกิจระบบหนึ่งๆ ซึ่งแรงงานมีความคล่องตัว (เคลื่อนย้ายได้ง่าย) และมีการแข่งขันกัน จะกำหนดได้ด้วยผลิตภาพหน่วยท้ายสุดของแรงงาน ณ ที่ดินชายขอบ หรือ ขอบริมแห่งการผลิต (margin of production – ที่ดินที่ให้ผลผลิตน้อยที่สุดเท่าที่ใช้กันอยู่)

 


 

21. กฎค่าเช่า (law of rent) ค่าเช่าทางเศรษฐกิจของที่ดินแปลงหนึ่งๆ จะเท่ากับผลต่างระหว่างผลผลิตของที่ดินนั้นกับผลผลิตที่ขอบริมแห่งการผลิต (ที่ดินที่ให้ผลผลิตน้อยที่สุดเท่าที่ใช้กันอยู่) ถ้าใช้แรงงานและทุนที่มีคุณภาพเท่ากัน

 


 

22. กฎทุน (law of capital goods) การลงทุนเป็นสินค้าทุนและทุนมนุษย์จะขยายออกจนกระทั่งผลตอบแทนการลงทุนที่คาด ซึ่งปรับแต่งตามค่าการเสี่ยงแล้ว เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงระยะยาว

 


 

23. กฎของวาลราส์ (Walras' law) ถ้ามีอุปทานมากเกินไปในตลาดแห่งหนึ่ง จะต้องมีอุปสงค์มากเกินไปในปริมาณเท่ากันในตลาดอีกแห่งหนึ่ง

 


 

24. กฎความประหยัด (law of economizing) มนุษย์มีแนวโน้มในทางประหยัด โดยหาทางให้ได้กำไรสูงสุดสำหรับต้นทุนที่กำหนด และหาทางให้มีต้นทุนต่ำสุดสำหรับกำไรที่กำหนด

 


 

25. กฎการมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ (law of economic rationality) การกระทำของมนุษย์จะเป็นไปตามเหตุผลทางเศรษฐกิจถ้าความพึงใจของเขามีความคงเส้นคงวาและถ้าเขามีความประหยัด

 


 

26. ปรากฏการณ์แกฟฟ์นีย์ (Gaffney effect) การเก็บภาษีที่ดินจะเท่ากับอัตราส่วนลด (discount rate) สำหรับการใช้ที่ดิน เพราะถ้ามิฉะนั้น ประชาชนจะมีต้นทุนค่าสินเชื่อต่างกันสำหรับการซื้อที่ดิน

เศรษฐศาสตร์สามานย์

เชื่อไหมครับ วิชาเศรษฐศาสตร์ได้ถูกคอร์รัปชันในสหรัฐฯ โดยปัจจัยการผลิตที่มี ๓ ปัจจัย คือ ที่ดิน แรงงาน(กาย+สมอง) และ ทุน ถูกตัดเหลือ ๒ ปัจจัย ส่วนที่ขาดหายไปคือที่ดิน ได้ถูกนำไปรวมกับ ทุนเพราะพวกที่มีผลประโยชน์มากในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องการกลายเป็นเป้าเด่นตามที่เฮนรี จอร์จชึ้ให้เห็น
ข้อเขียนและคำปราศรัยของ Henry George (ค.ศ.1839-1897) ในช่วง 20 ปีสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เสนอให้ยกเลิกภาษีทั้งสิ้น ยกเว้นให้เก็บภาษีมูลค่าที่ดินเพียงอย่างเดียว ซึ่งได้รับการต้อนรับจากคนส่วนใหญ่ ทำให้กลุ่มอำนาจต้องหาทางรักษาสถานภาพที่เป็นอยู่ (status quo) ส่วนที่สำคัญก็คือพยายามมีอำนาจควบคุมการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ของสหรัฐฯ
ศาสตราจารย์ Mason Gaffney อธิบายว่าเศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิกเริ่มขึ้นเมื่อ John Bates Clark (ค.ศ. 1847-1938 ) ผู้มีชื่อเสียงด้านพัฒนาแนวคิดเรื่องผลิตภาพหน่วยท้ายสุด (marginal productivity) ถือเอาเป็นภาระหน้าที่ของตนที่จะต้องต่อต้าน Henry George   ต่อมา Clark ได้รับการย้ายไปยังมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แล้วบรรดาศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ที่คุ้นเคยกับการโต้แย้งทางจริยธรรมก็ถูกแทนที่ด้วยผู้ผ่านการศึกษาด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ๆ
สิ่งแรกที่กลุ่มนีโอคลาสสิกทำคือ การถอนเอา ที่ดินออกจากสมการเศรษฐกิจ โดยไม่ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่แตกต่างจากทุนและสินค้าที่ผลิตขึ้นมาด้วยการใช้แรงงาน โลกเศรษฐกิจจึงเหลือสิ่งสำคัญพื้นฐานเพียง 2 สิ่ง คือ แรงงาน และ ทุน อิทธิพลความคิดของ Henry George และกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เดิมที่เรียกว่า political economists แทบจะหมดไปในราวกลางทศวรรษที่เริ่มจาก ค.ศ.1920
ทางดาราศาสตร์มีสสารมืดหรือสิ่งที่เราเรียกว่าหลุมดำ (black hole) ทางเศรษฐศาสตร์ก็เปรียบผลตอบแทนต่อที่ดินเป็นสสารมืด เช่น ระหว่าง ค.ศ. 1975 ถึง 2005 GDP ของสหรัฐฯ โตมากกว่าร้อยละ 3 ต่อปี หลังหักค่าเงินเฟ้อแล้ว รายได้มัธยฐานของครอบครัว (median family income - มีจำนวนครอบครัวที่อยู่เหนือและใต้เส้นมัธยฐานเท่ากัน) กลับมีอัตราการเติบโตเพียง 0.8 % เท่านั้น การเติบโตส่วนอื่น ๆ ไปอยู่เสียที่ไหน ?

เรื่องแถม ใครขูดรีดแรงงาน นายทุน หรือ เจ้าของที่ดิน ?
โดยอาศัย ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน” (labor theory of value) ที่ผิดพลาด คาร์ล มาร์กซ์ได้อ้างว่ามูลค่าทั้งหมดเกิดจากแรงงาน ดังนั้นส่วนเกินจึงต้องเป็นค่าแรงที่ถูก นายทุนยึดไปโดยไม่เป็นธรรม
เฮนรี จอร์จได้แสดงให้เห็นอย่างถูกต้องว่าส่วนเกินคือค่าเช่าที่ดิน เพราะในระบบตลาดเสรี แรงงานจะได้รับชดเชยเต็มที่ตามผลิตภาพ แต่ผลิตภาพนี้ถูกกดอยู่ด้วยภาษี และการเก็งกำไรที่ดินซึ่งทำให้ขอบริมแห่งการผลิตถูกขยายออกไปยังที่ดินที่มีผลิตภาพต่ำลง และที่ดินเดิมมีค่าเช่าสูงขึ้น ค่าแรงจึงลดลง

10 ธันวาคม 2555

เพิ่มทุนโดยไม่ใช้เงินสดในธุรกิจเครือข่าย

หากเราต้องการอะไรสักอย่างเราต้องเอาอะไรบางอย่างไปแลก
- เอาเงินไปซื้อของ เพราะ เงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน ในยุคต์ปัจจุบัน
- เอาของไปขายเป็นเงิน เพื่อเอาเงินมาไว้แลกของที่ต้องการ
- เอาเงินไปซื้อเวลา เช่น จ่ายค่าทางด่วน  จะได้เดินทางได้เร็วขึ้น
- เอาเวลาและแรงงานไปแลกกับเงิน  ทำงาน  รับจ้าง ได้ค่าจ้าง ได้เงินเดือน มีประสบการมีความสามารถมากขึ้นได้เลื่อนตำแหน่ง เงินเดือนก็เพิ่มขึ้น
- ฯลฯ
สิ่งที่เราเอาไปแลก คือ “ทุน”   ถ้าเราอยากได้มากขึ้น ก็ต้องใช้ “ทุน” ที่สูงขึ้น    ในขณะที่ทุกคนมีเวลาเท่ากัน
วันนี้จะพูดถึงการลงทุนในการทำธุรกิจเครือข่าย
การลงทุนทำธุรกิจทั่วไป   การที่จะมีรายได้เดือนละแสน ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า หนึ่งล้านบาท และยังต้องมีค่าใช้จ่ายผูกพันธ์ตามมา อีก เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างพนักงาน  ฯลฯ
สำหรับธุรกิจเครือข่ายเป็นธุรกิจที่ใช้เงินสดลงทุนต่ำมาก  เพราะทุนจะอยู่ที่ตัวผู้ประกอบการ  คือทักษะ ความสามารถ กำลังใจ ความอดทน ความเอาจริงเอาจัง  การฝึกฝนเรียนรู้
นักธุรกิจเครือข่าย  ที่มี ทักษะ ความรู้ ความสามารถในเรื่องธุรกิจเครือข่าย มากเท่าไหร่ ก็ เหมือนกับมี ทุนมาก  เมื่อมีทุนมากก็ ทำเงินได้มาก  เขาสามารถสร้าง  พัฒนา ขยายองค์กร ของเขาได้เท่าที่ใจปรารถนา    ขอให้ท่านนึกถึงผู้นำ ที่ปรากฏตัวบนเวทีในงานประกาศเกียรติคุณ ที่บริษัทจัดขึ้น  พวกเขาขึ้นพูดบนเวทีสร้างความประทับใจ สร้างแรงบันดาลใจให้คน เป็นร้อยเป็นพัน  และการที่พวกเขามีรายได้เป็นแสนเป็นล้าน เพราะพวกเขา มีทักษะ คือมีทุนมากนั่นเอง
พอเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับว่า  เราต้อง เพิ่มทุนหรือทักษะ ในการทำธุรกิจเครือข่ายของเรา  เพราะเรามีความสามารถ มีทักษะเท่านี้ ยังมีทุนน้อยอยู่ รายได้ถึงยังไม่มาก

การเรียนรู้ทีได้ผลรวดเร็ว  คือการเอาแบบอย่างผู้สำเร็จ
เรียนรู้สังเกตทำตามในแบบที่เป็นตัวเรา  และจุดประสงค์การเรียนรู้คือ นำมาปฏิบัติฝึกฝนทำซ้ำๆเพื่อให้เกิดทักษะ และสามารถถ่ายทอดไปสู่ดาวน์ไลน์คนต่อๆไป เท่ากับทำงานด้วยตัวของเราเอง
สิ่งจำเป็นที่จะต้องรู้รอบตอบได้ในการทำธุรกิจเครือข่ายของคุณ คือ
  • บริษัทที่คุณทำ ข้อมูล วิสัยทัศน์ ผู้บริหาร ความมั่นคง
  • สินค้า รายละเอียดทุกอย่าง ข้อดี ข้อเสีย คู่แข่ง แนวโน้ม
  • แผนตลาดการจ่ายผลตอบแทน ข้อดีข้อเสีย
  • ระบบ ทีมงาน แผนการทำงาน
  • เข้าอบรมเรียนรู้หลักสูตรที่บริษัทจัดให้ เพราะเป็นแนวทางที่ใช้พัฒนาในการทำงานในบริษัทที่คุณทำ
  • เข้าอบรมเรียนรู้หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพ  หลักสูตรผู้นำ เพราะธุรกิจเครือข่ายผู้นำเท่านั้นที่มีรายได้หลักแสนหลักล้าน
 
การเพิ่มทุนโดยไม่ต้องใช้เงินสด คือการเรียนรู้ฝึกฝนเพิ่มทักษะ แล้วถ่ายทอด ทำซ้ำๆ  
ทักษะหรือทุนที่เพิ่มขึ้นรายได้คุณก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน