( (( )) )

18 ธันวาคม 2555

เศรษฐศาสตร์แนวจอร์จ (Georgist Economics)

เศรษฐศาสตร์แนวจอร์จ (เฮนรี จอร์จ) Georgist Economics ปัจจัยการผลิตแบ่งเป็น 3 ปัจจัย คือ

          1.ที่ดิน
          2.แรงงาน (มนุษย์)
          3.ทุน

          การจัดการหรือการประกอบการ ซึ่งทางบริหารมักจะถือเป็นปัจจัยที่ 4 นั้น ที่จริง คือ แรงงาน ซึ่งมีทั้งทางสมองและทางกาย

          จอร์จบอกว่า ที่ดินควรเป็นของส่วนรวม รัฐทำหน้าที่เก็บภาษีที่ดิน (ก็ค่าเช่าที่ดินนั่นเอง) เอามาบำรุงส่วนรวม เพราะมูลค่าที่ดิน ส่วนใหญ่เกิดจากการมีชุมชน กิจกรรมของแต่ละคนที่กระทำ โดยสุจริต แม้จะเพื่อประโยชน์ตนเอง แต่ที่จริงเป็นความร่วมมือกัน เพื่อบำบัดความต้องการของทุกคนที่เข้ามาร่วมมือกันในการผลิตและค้าสินค้าและบริการ ส่วนมากก็โดยการแบ่งงานกันทำ (division of labour) ทำให้เกิดความรู้ความชำนาญเฉพาะอย่างแบบที่ต้องเล่าเรียนกันสูง ๆ ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งเกิดเครื่องมืออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อธุรกิจและขนส่งสินค้า

          การที่คนเราแต่ละคนทำเพื่อตนเองแต่ส่งผลดีต่อส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพเช่นนี้ แอดัม สมิธ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ เปรียบว่าเป็น มือที่มองไม่เห็น (invisible hand) ซึ่งเฮนรี จอร์จบอกว่าทำให้เกิดมูลค่าซึ่งเข้าไปเกาะติดอยู่กับที่ดินในชุมชน ยิ่งชุมชนหนาแน่น ยิ่งเครื่องมืออำนวยความสะดวกก้าวหน้า ประสิทธิภาพการผลิตยิ่งสูง ซึ่งก็ทำให้มูลค่าที่ดินยิ่งสูงขึ้นอีกต่อหนึ่งมูลค่านี้เป็นผลพลอยได้จากการทำเพื่อประโยชน์ของตนเองซึ่งกลายเป็นการร่วมมือกันโดยอัตโนมัติ คนไหนขายของเลวราคาแพงก็ไม่มีคนซื้อ

ลัทธิจอร์จเป็นสังคมนิยมเมื่อมองในแง่ที่ดิน

          ถ้าไม่เก็บภาษีที่ดิน เจ้าของที่ดินจะได้รับประโยชน์ไปที่เรียกว่าเป็นรายได้ที่มิได้ลงทุนลงแรง (unearned income) และทำให้ต้องหันไปเก็บภาษี เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีกำไร (ซึ่งทำให้รายได้สุทธิของผู้ทำงานและผู้ลงทุนลดลง) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ทำให้ของแพง) ซ้ำกลับเกิดผลเสียใหญ่หลวงคือการเก็งกำไรเก็บกักที่ดินหวังราคาที่จะสูงขึ้นในอนาคต ไปที่ไหน ๆ ก็เจอแต่ที่ดินมีเจ้าของแล้ว ที่ดินกลายเป็นของหายาก ค่าเช่าที่อยู่ที่ทำกินมีอัตราสูงเกินกว่าระดับที่ควร (ส่วนแบ่งการผลิตสำหรับผู้ลงแรงลงทุนต่ำกว่าระดับที่ควร) ผู้คนหางานทำยาก ค่าแรงก็ต่ำ และยังทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวรุนแรง ขาลงจะก่อความเสียหายมากมายคนจนยิ่งทุกข์ยากหนักขึ้น (วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ก็เป็นเพราะการเก็งกำไรที่ดินเหมือนครั้งก่อน ๆ แต่รุนแรงกว้างขวางขึ้นจากการมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ขึ้นมา) เหตุดังกล่าวคือสิ่งขวางกั้นสำคัญต่อการทำงานของมือที่มองไม่เห็นของแอดัม สมิธ

          แต่ลัทธิจอร์จก็เป็นแรงงานนิยมและทุนนิยมด้วยอย่างแรงเพราะต้องการให้ผู้ทำงานและผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนเต็มที่ ไม่มีภาษีประเภทที่ไปลดรายได้และไปเพิ่มรายจ่าย (ราคาสินค้า)

          ถ้าเป็นไปตามลัทธิจอร์จ จะไม่มีชนชั้นเจ้าของที่ดินเพราะที่ดินเป็นของส่วนรวมด้วยวิธีการภาษีซึ่งจะขจัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการมีที่ดินมากน้อย ดีเลว ผิดกันให้หมดไป

นายทุนกับแรงงานมีผลประโยชน์ร่วมกัน

          นายทุนกับผู้ใช้แรงงานมีผลประโยชน์ร่วมกันก็เพราะค่าแรงกับดอกเบี้ยจะสูงขึ้นหรือต่ำลงไปด้วยกัน เหตุที่ดอกเบี้ยสูงขึ้นหรือต่ำลงตามค่าแรงก็เพราะทุนกับแรงงานเป็นประหนึ่งสิ่งเดียวกัน เพราะทุนเกิดมีขึ้นได้ด้วยการใช้แรงงาน ทุนคือแรงงานในอดีต คือแรงงานที่ได้ใช้ไปแล้วเพื่อการผลิต แต่นำมาใช้ประโยชน์ภายหลัง บางท่านเรียกทุนว่า คือ แรงงานที่สะสมไว้ (Stored-up Labour)

ความต้องการใช้แรงงาน พอจะแบ่งออกได้ดังนี้

          1) เพื่อบริการ
          2) เพื่อผลิตโภคทรัพย์ (คือ เศรษฐทรัพย์ที่มิใช่ทุน)
          3) เพื่อผลิตทุน (รวมทั้งซ่อมแซมทุนที่มีอยู่แล้วด้วย)

          แรงงาน 3 ประเภทนี้เปลี่ยนแปลงถ่ายเทกันได้พอสมควร สมมติว่าปกติ อัตราส่วนระหว่างค่าแรงกับดอกเบี้ยอยู่ที่จุดสมดุลอันหนึ่ง ต่อไปถ้าเจ้าของทุนจะเรียกร้องเอาผลตอบแทน คือดอกเบี้ยสูงขึ้นหรือค่าแรงถูกกดให้ต่ำลงไปจากจุดสมดุล ความต้องการแรงงานตามข้อ 1), 2) จะมากขึ้น เพราะค่าแรงต่ำลง ความต้องการแรงงานตามข้อ 3) เพื่อผลิตทุนขึ้นมาใช้แทนแรงงาน ก็จะมากขึ้นด้วย เพราะทั้งค่าแรงก็ต่ำลง และเพื่อให้ได้ทุนซึ่งมีดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ความต้องการใช้ทุนจะกลับลดลง เพราะต้องเสียดอกเบี้ยสูงขึ้นในขณะเดียวกันเจ้าของทุนจะเสนอให้มีการใช้ทุนของตนมากขึ้น แต่ผู้ใช้แรงงานจะเสนอแรงงานน้อยลง

          กล่าวอีกแนวหนึ่ง ถ้าเครื่องจักรกลทุ่นแรง (คือ ทุน) แพงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรง ผู้ประกอบการก็จะไม่ซื้อเครื่องจักรกลนั้นมาใช้ แต่จะจ้างคนทำงานแทนเครื่องจักรกลให้มากขึ้น ผลจากการนี้จะทำให้ค่าแรงกลับสูงขึ้น และดอกเบี้ยลดต่ำลงเข้าหาดุลยภาพดังเดิม

          ตรงกันข้าม ถ้าดอกเบี้ยต่ำกว่าจุดสมดุล หรือค่าแรงสูงกว่า ความต้องการใช้ทุนแทนแรงงานก็จะเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการแรงงานเพื่อผลิตทุนตามข้อ 3) จะลดลง ความต้องการแรงงานตามข้อ1), 2) ก็จะลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ดุลยภาพกลับคืนมาใหม่

          คำอธิบายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายทุนกับผู้ใช้แรงงานมีผลประโยชน์ที่จะต้องรักษาร่วมกัน ไม่ใช่ขัดกันอย่างที่คนทั่วไปหรือคอมมิวนิสต์เข้าใจ  ส่วนความพยายามที่จะให้ตนเองได้รับผลตอบแทนมากกว่าผู้อื่นหรือฝ่ายอื่น ทำให้เกิดการแก่งแย่ง การต่อรองกันนั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน แต่รัฐก็ต้องออกกฎหมายและควบคุมดูแล  ถ้าผู้ใดเป็น ทุนนิยม ผู้นั้นจะเป็น แรงงานนิยม ด้วย หรือจะเรียกว่าเป็นแรงงาน-ทุนนิยม ก็ได้

          โปรดระลึกด้วยว่า การรับจ้างทำงานในโรงงานเป็นเพียงอาชีพเดียวในหลายๆ อาชีพของผู้ใช้แรงงาน ผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยมิได้ทำงานในโรงงาน ผู้ใช้แรงงานหลายคนใช้ทุนของตนเอง (ถึงแม้บางคนจะต้องกู้เขามาลงทุน) เช่น ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ผู้เลี้ยงสัตว์ ช่างต่างๆ ผู้ทำอุตสาหกรรมในครอบครัว ผู้ประกอบธุรกิจหรือการค้าเล็กๆ น้อยๆ ผู้ให้บริการหรือผู้ทำการผลิตรายย่อย และบุคคลที่กล่าวแล้วนี้ก็ยังจ้างให้ผู้อื่นช่วยทำงานอยู่ด้วยไม่ใช่น้อย ขอให้ดูตัวอย่างร้านอาหารจำนวนมาก นอกจากพนักงานเดินโต๊ะแล้ว ยังมีคนครัว คนล้างชาม เป็นต้น นอกจากนั้นผู้ประกอบอาชีพหนึ่งก็อาจเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ จึงไม่ใช่ว่าผู้ใช้แรงงานจะต้องพึ่งพานายทุนเจ้าของโรงงานอย่างมากมายเกินไปนัก

          ความจริงอีกข้อหนึ่ง ถ้ามีการลงทุนน้อยลง ตำแหน่งงานก็จะน้อยลง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าความร่วมมือในการผลิตระหว่างแรงงานกับทุนลดลง ประสิทธิภาพในการผลิตก็จะต่ำ พลอยทำให้ค่าแรงลดลงด้วย  ซึ่งนี่ก็หมายความว่าหากมีปัจจัยใดมาทำให้ผู้ลงทุนได้กำไรน้อยลง ก็จะมีผู้ลงทุนน้อยลง ซึ่งพลอยทำให้เสียประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานไปด้วย ผลประโยชน์ของนายทุนกับผู้ใช้แรงงานจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

          ข้อคิดอีกข้อหนึ่งก็คือ ในประเทศด้อยพัฒนานั้นก็กล่าวกันว่าการมีทุนหรือเครื่องจักรกลน้อยเป็นสาเหตุของความยากจน แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศที่พัฒนาแล้วมีทุนหรือเครื่องจักรกลมากมาย ความยากจนก็มีให้ต้องคอยหาทางแก้ไขและป้องกันกันตลอดเวลา มาด้วยกฎหมายและระเบียบวิธีการต่าง ๆ

          ขอกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารสำหรับเงินตรา (ซึ่งถือกันว่ามิใช่ทุนที่แท้จริง) จะขึ้นลงไปตามดอกเบี้ยสำหรับทุนที่แท้จริง เพราะถ้าทุนที่แท้จริงให้ดอกเบี้ยต่ำลงก็จะไม่มีใครอยากกู้เงินจากธนาคารไปลงทุน หากอัตราดอกเบี้ยธนาคารยังสูงคงเดิม ธนาคารก็จำเป็นจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยที่จะคิดจากผู้กู้ลง และก็จะต้องมาลดอัตราดอกเบี้ยที่คิดให้แก่ผู้ฝากลงอีกต่อหนึ่ง โดยทำนองตรงข้าม ถ้าทุนที่แท้จริงให้ผลตอบแทนสูง อัตราดอกเบี้ยธนาคารก็จะสูงขึ้นด้วย



 

 

 
นายทุนกับผู้ใช้แรงงานปัจจุบันจะดูเหมือนอยู่กันคนละฝ่าย

          นายทุนกับผู้ใช้แรงงานปัจจุบันจะดูเหมือนอยู่กันคนละฝ่าย  แต่ที่จริง นายทุนกับผู้ใช้แรงงานอยู่ฝ่ายเดียวกัน และมีเจ้าของที่ดินอยู่ฝ่ายตรงกันข้าม ฝ่ายนี้ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นๆ จากราคา-ค่าเช่าที่ดิน(ไม่รวมอาคารซึ่งถือเป็นทุน) ที่สูงขึ้นจากความเจริญก้าวหน้าทั้งหลาย และบริการสาธารณะที่ใช้ภาษีจากราษฎรทั่วไป ส่วนใหญ่ภาษีได้จากการลงทุนลงแรงผลิตและแลกเปลี่ยนขายซื้อ ซึ่งการลงทุนลงแรงดังนี้ถูกหลักของการแบ่งงานกันทำ อันเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสนองความต้องการของตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก่อให้เกิดความอยู่ดีกินดี และอารยธรรม ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของรัฐเอง รัฐจึงควรสนับสนุน และจึงไม่ควรเก็บภาษีจากการลงทุนลงแรงผลิตและแลกเปลี่ยนขายซื้อ แต่ควรเก็บภาษีจากการถือครองที่ดิน

          นอกจากค่าเช่า-ราคาที่ดินจะสูงขึ้นด้วยความเจริญก้าวหน้าทั้งหลายและบริการสาธารณะ ตลอดจนการมีพลเมืองหนาแน่นขึ้นแล้ว ยังเป็นเพราะการเก็งกำไรเก็บกักปิดกั้นที่ดินไว้อีกอย่างหนึ่ง ทำให้ส่วนแบ่งที่ไปสู่เจ้าของที่ดินนั้นสูงเกินกว่าที่ควร และนายทุนและผู้ใช้แรงงานได้รับน้อยกว่าที่ควร ซึ่งนายทุนต้องรับหน้าอยู่ ทำให้ดูเหมือนนายทุนเป็นผู้กดค่าแรง จึงดูเหมือนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้ใช้แรงงาน แต่ก็มีนายทุนที่ขูดรีดผู้ใช้แรงงานได้จริง เพราะผู้ใช้แรงงานอ่อนแอมาแล้วจากการต้องจ่ายค่าเช่าสูงเกินกว่าที่ควร และต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในรูปของสินค้าที่แพงขึ้น เมื่อถึงคราววิ่งหางาน นายจ้างกำหนดค่าแรงเท่าไรก็ต้องรับไว้ก่อน มิฉะนั้นอาจอดตาย เมื่อไปขอกู้เงิน นายทุนเงินกู้เรียกดอกเบี้ยโหด ๆ ก็ต้องยอม ฯลฯ

          แต่เมื่อมีการใช้ระบบภาษีที่ดินเต็มที่และเลิกภาษีจากการลงแรงลงทุน คนจนผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่จะมีฐานะดีขึ้น ไม่ต้องพึ่งนายจ้างและนายทุนเงินกู้อย่างมากอีกต่อไป

          คนหนึ่งๆ อาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้ง 3 อย่าง (ที่ดิน แรงงาน ทุน) หรือ 2 อย่างก็ได้ แต่ในการพิจารณาให้เกิดความเข้าใจ เราก็จะต้องแยกพิจารณากันเป็นส่วนๆ ไป.

แก้ปัญหาที่ดินได้ปัญหานายทุนกดค่าแรงจะหมดไปด้วย

          ชนชั้นปัจจุบันยังไม่ได้เหลือสอง คือ ผู้ใช้แรงงาน กับ นายทุน เท่านั้น ชนชั้นเจ้าของที่ดินยังมีอยู่และมีอิทธิพลสูง เฉพาะชนชั้นเจ้าของที่ดินเท่านั้นที่ขัดผลประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน และขัดผลประโยชน์กับนายทุนด้วย ที่จริง คนเดียวอาจเป็น ๒ หรือทั้ง ๓ ฐานะ คือ เจ้าของที่ดิน ผู้ใช้แรงงาน และ นายทุน (ผู้ประกอบการคือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งใช้แรงสมองเป็นส่วนมาก) แต่เมื่อจะพิจารณาเรื่องเช่นนี้ เราก็ต้องแยกทั้ง ๓ ฐานะออกจากกัน

          คนในสังคมไม่ว่าจะชนชั้นไหนไม่ควรจะต้องเป็นศัตรูทำลายล้างกัน ระบอบประชาธิปไตยขณะนี้ได้พัฒนาขึ้นมากแล้ว ภาคประชาชนก็เข้ามีส่วนร่วมตรวจสอบพฤติการณ์ของฝ่ายบริหารอย่างแข็งขันขึ้น ขอเพียงให้วิธีแก้ไขอย่างถูกต้องในปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านที่ดินและภาษี อันเป็นฐานรากที่แผ่กว้างทั่วสังคมมนุษย์ ได้เป็นที่รู้กันแพร่หลายเท่านั้น แล้วประชาธิปไตยจะแก้ไขนำความอยู่ดีกินดีมาให้เอง

          น่าเสียดายที่รัสเซียและประเทศในยุโรปตะวันออกซึ่งได้ละทิ้งระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ส่วนมากไม่ได้คิดดึงเอาที่ดินไว้เป็นของรัฐต่อไป ถ้าประเทศเหล่านี้เพียงแต่เก็บภาษีเท่ากับค่าเช่าที่ดินตามที่ประเมินได้ว่าควรจะเป็นเท่าใด (ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ทำเล) ไม่ว่าผู้ถือครองจะให้เช่าหรือใช้ทำประโยชน์เองหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งค่าภาคหลวงจากการนำทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ (ซึ่งเป็นแบบหนึ่งของภาษีที่ดิน) ที่ส่วนใหญ่จะได้จากการลงทุนของต่างชาติ ก็จะได้ภาษีมากพอที่จะยกเลิกภาษีอื่น ๆ ได้หลายอย่าง (รวมทั้งภาษีเงินได้ และภาษีที่มีแต่ไปเพิ่มราคาสินค้าให้แพงขึ้น) ซึ่งก็จะทำให้ผู้ทำงานมีเงินได้สุทธิเพิ่มขึ้น และของกินของใช้ราคาถูกลง ก่อความอยู่ดีกินดีแก่คนหมู่มาก แต่มีคนเตือนว่านักลงทุนต่างชาตินั่นแหละจะล้อบบี้ไม่ให้ตนเองต้องจ่ายภาษีที่ดิน

          ระบบปัจจุบันเอื้ออำนวยให้เจ้าของที่ดินได้รับประโยชน์ไปโดยไม่ต้องทำอะไร วันเวลาผ่านไป บ้านเมืองเจริญขึ้น ราคา/ค่าเช่าที่ดินก็สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ  ใคร ๆ ที่พอมีเงินเห็นดังนี้ก็พากันซื้อหาที่ดินเก็บกักกันไว้ หวังราคา/ค่าเช่าที่จะสูงขึ้น เป็นการรวมหัวผูกขาดที่กว้างขวางที่สุดโดยไม่ต้องนัดหมาย ไปที่ไหน ๆ ก็เจอแต่ที่ดินมีเจ้าของแล้วแทบทั้งนั้น คนจนก็ยิ่งลำบากมากขึ้นในการจะขวนขวายหาที่ดินเป็นของตนเอง มิหนำซ้ำยังต้องจ่ายค่าเช่าสูงขึ้นเพราะการเก็งกำไรเก็บกักที่ดินกันทั่วไปนี้

          การที่เจ้าของที่ดินแต่ละคนมีที่ดินมากเกินส่วนเฉลี่ยย่อมเป็นการบั่นทอนสิทธิในที่ดินของคนส่วนที่เหลือ ซึ่งที่ดินนั้นจำเป็นเสมอต่อการเป็น “ที่อยู่อาศัย” และ “ประกอบอาชีพ”
ที่ดินเป็นเงื่อนไขของชีวิต ขาดที่ดิน ชีวิตก็ดับ

          การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการสืบต่อสิทธิในสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากการลงทุนลงแรงผลิต หากราชการเก็บภาษีเท่าค่าเช่าที่ดินประเมิน โดยมีการประเมินใหม่เป็นระยะ ๆ การเก็งกำไรที่ดินจะหายไป ราคา/ค่าเช่าที่ดินส่วนที่สูงเกินจริงจะหายไป ที่ดินจะเปิดออกให้คนได้เข้าทำกินมากขึ้น และการเลิก/ลดภาษีอื่น ๆ จะเป็นแรงกระตุ้นจูงใจให้มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น การต้องพึ่งพานายจ้างจะลด การว่างงานจะลด การต้องแย่งกันหางานทำจะลด ค่าแรงจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่มาจากการลดของราคา/ค่าเช่าที่ดินและส่วนที่เจ้าของที่ดินเคยได้ไป นายทุนเองก็จะไม่สามารถกดค่าแรงไว้ได้เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป แต่นายทุนก็ได้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนต่อทุนสูงขึ้น เหมือนค่าแรง จากการที่ราคา/ค่าเช่าที่ดินลดและการลดภาษีอื่น ๆ

          แต่การเปลี่ยนแปลงฮวบฮาบจะก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดิน การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีเช่นนี้จึงควรค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลา ๒๐–๓๐ ปี ซึ่งเจ้าของที่ดินจะต้องเปลี่ยนฐานะเป็นนายทุนหรือผู้ใช้แรงงานไป

          คาร์ลมาร์กซ์กล่าวไว้ว่า Monopoly of land is the basis of monopoly in capital.
          นี่แปลว่า ถ้า Monopoly of land หมดไปแล้ว ก็ไม่มี monopoly in capital ใช่ไหม ?
          นั่นคือ นายทุนจะไม่สามารถกดค่าแรงไว้ได้

จากเว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม http://geocities.com/utopiathai (ปัจจุบัน 12 มี.ค. 53 เปลี่ยนเป็น http://utopiathai.webs.com )

ค้นจาก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=utopiathai&date=20-12-2008&group=1&gblog=58

ไม่มีความคิดเห็น: