( (( )) )

18 ธันวาคม 2555

กฎธรรมชาติด้านเศรษฐศาสตร์

กฎธรรมชาติคือประพจน์หรือข้อเสนอ (proposition) อันเป็นสากลหรือเป็นการทั่วไปสำหรับเนื้อหาวิชา (subject matter) หนึ่งๆ กฎธรรมชาติทางวิทยาศาสตร์ประกอบด้วยประพจน์ต่างๆ ที่อธิบายความสม่ำเสมอ (regularities) ที่สังเกตเห็น ทางเศรษฐศาสตร์ก็มีความสม่ำเสมอขั้นพื้นฐานอยู่บางเรื่องซึ่งกำหนดให้เป็นกฎธรรมชาติด้านเศรษฐศาสตร์ กฎเหล่านี้รวมถึง

 


 

1. กฎอุปสงค์ (law of demand) เมื่อสินค้าอย่างหนึ่งมีราคาต่ำลง ความต้องการสินค้านั้นเชิงปริมาณจะไม่ลด แต่โดยปกติจะกลับเพิ่มขึ้น กฎอุปสงค์ปกติจะใช้กับกรณีการใช้สินค้าราคาถูกแทนสินค้าราคาแพงเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงราคาสัมพัทธ์ แต่ก็ใช้ได้กับเศรษฐกิจส่วนรวมด้วย คือเมื่อระดับราคาสินค้าส่วนรวมต่ำลง ถ้าปริมาณเงินตราคงที่ จะมีการซื้อสินค้าเป็นปริมาณมากขึ้น

 


 

2. กฎอุปทาน (law of supply) เมื่อสินค้าอย่างหนึ่งมีราคาสูงขึ้น การผลิตสินค้านั้นจะไม่ลดลง แต่โดยปกติจะกลับเพิ่มขึ้น

 

3. กฎผลตอบแทนลดน้อยถอยลง (law of diminishing returns) หรือกฎผลิตภาพหน่วยท้ายสุดลดลง (law of decreasing marginal productivity) ถ้าให้ปริมาณปัจจัยการผลิตอื่นๆ คงที่ และปริมาณของปัจจัยการผลิตปัจจัยหนึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดผลผลิตหน่วยท้ายสุดจะลดลง

 


 

4. กฎราคาเดียว (law of one price) ในตลาดเสรีที่มีประสิทธิภาพ ราคาของสินทรัพย์ทางการเงินจะมีแนวโน้มเป็นราคาเดียวที่สมดุลเนื่องจากการซื้อและขายในต่างตลาดเวลาเดียวกัน (arbitrage)

 


 

5. กฎของเกรแชม (Gresham's law) เงินเลว [ทำด้วยโลหะที่มีราคาต่ำ] จะไล่เงินดีออกไปเมื่อเงินเลวเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender)

 


 

6. กฎการไหลกลับ (law of reflux) ในการธนาคารของระบบตลาดเสรีที่มีการแข่งขัน การออกธนบัตรมากเกินควรจะเป็นอยู่ได้ไม่ถาวรเพราะส่วนที่เกินจากปริมาณที่ต้องการจะถูกไถ่ถอนคืน

 


 

7. กฎอุปทานและอุปสงค์ (law of supply and demand) ในระบบตลาดเสรี ราคาสมดุลของสินค้าอย่างหนึ่งคือราคาที่ปริมาณอุปทานเท่ากับปริมาณอุปสงค์

 


 

8. กฎอรรถประโยชน์หน่วยท้ายสุดลดน้อยถอยลง (law of diminishing marginal utility) เมื่อผู้หนึ่งได้รับสินค้าอย่างหนึ่งมากขึ้นๆ ในที่สุดอรรถประโยชน์หน่วยท้ายสุด (คุณค่าจากอีกหนึ่งหน่วยที่เพิ่มขึ้น) สำหรับเขาจะลดลง

 


 

9. กฎผลลัพธ์ที่ไม่มีเจตนา (law of unintended consequences) การกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะคือการกระทำของรัฐบาล ก่อให้เกิดผลลัพธ์ซึ่งผู้กระทำไม่มีเจตนาและมิได้คาดไว้ก่อน

 


 

10. กฎการคาดหวังซ้ำ (law of iterated expectations) เราไม่อาจใช้ข่าวสารที่มีจำกัดในอดีตเพื่อทำนายความผิดพลาดในการพยากรณ์ที่เราจะกระทำถ้าเรามีข่าวสารดีกว่าในภายหลัง

 


 

11. กฎของเองเกล (Engel's law) สัดส่วนของรายได้ที่ใช้เป็นค่าอาหารในระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆ ย่อมเป็นสัดส่วนผกผันกับสภาพความอยู่ดีกินดีทั่วไปของสังคมในระบบเศรษฐกิจนั้น

 


 

12. กฎของวากเนอร์ (Wagner's law) เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้น การใช้จ่ายของรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่า

 


 

13. กฎความไม่เท่าเทียมกันของโฟลด์แวรี (Foldvary's law of inequality) ความไม่เท่าเทียมกันจะเท่ากับการกระจุกตัวของการกระจายรายได้คูณด้วยจำนวนหน่วย  (I=CN)

 


 

14. กฎตลาดเสรีของเซย์ (Say's law of markets) อุปทานสินค้าจะทำให้การจ่ายค่าปัจจัยการผลิตมีจำนวนเท่ากับมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นปริมาณรวมด้านอุปทานจะเท่ากับปริมาณรวมด้านอุปสงค์

 


 

15. กฎความพึงใจด้านเวลา (law of time preference) คนเรามักพอใจที่จะได้สินค้าโดยเร็วและจะยอมจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ (premium) เพื่อร่นเวลาซื้อจากอนาคตมาเป็นปัจจุบัน

 


 

16. กฎของตลาด (law of the market) ข้อความที่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดกล่าวจะถือกันว่าเป็นความจริง และจะถือกันว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผล ยกเว้นถ้ากล่าวเป็นอย่างอื่น

 


 

17. กฎวิภาคกรรมของพาเรโต (Pareto's law of distribution) มีแนวโน้มทั่วไปที่ร้อยละ 80 ของผลลัพธ์เกิดจากร้อยละ 20 ของสาเหตุ ซึ่งมักเป็นในกรณีของทรัพย์สิน ร้อยละ 80 ของทรัพย์สินถูกครอบครองโดยร้อยละ 20 ของประชากร

 


 

18. กฎต้นทุน (law of cost) ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายทั้งปวงคือค่าเสียโอกาส ต้นทุนที่แท้จริงคือสิ่งที่เสียไปเพื่อให้ได้บางสิ่งมา

 


 

19. กฎความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (law of comparative advantage) การค้าเกิดขึ้นเพราะผู้เข้าร่วมมีความชำนาญในผลิตภัณฑ์ที่ตนมีค่าเสียโอกาสต่ำ แทนที่จะเป็นเพียงมีต้นทุนแท้จริงต่ำ

 


 

20. กฎค่าแรง (law of wages) ระดับค่าแรงของเศรษฐกิจระบบหนึ่งๆ ซึ่งแรงงานมีความคล่องตัว (เคลื่อนย้ายได้ง่าย) และมีการแข่งขันกัน จะกำหนดได้ด้วยผลิตภาพหน่วยท้ายสุดของแรงงาน ณ ที่ดินชายขอบ หรือ ขอบริมแห่งการผลิต (margin of production – ที่ดินที่ให้ผลผลิตน้อยที่สุดเท่าที่ใช้กันอยู่)

 


 

21. กฎค่าเช่า (law of rent) ค่าเช่าทางเศรษฐกิจของที่ดินแปลงหนึ่งๆ จะเท่ากับผลต่างระหว่างผลผลิตของที่ดินนั้นกับผลผลิตที่ขอบริมแห่งการผลิต (ที่ดินที่ให้ผลผลิตน้อยที่สุดเท่าที่ใช้กันอยู่) ถ้าใช้แรงงานและทุนที่มีคุณภาพเท่ากัน

 


 

22. กฎทุน (law of capital goods) การลงทุนเป็นสินค้าทุนและทุนมนุษย์จะขยายออกจนกระทั่งผลตอบแทนการลงทุนที่คาด ซึ่งปรับแต่งตามค่าการเสี่ยงแล้ว เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงระยะยาว

 


 

23. กฎของวาลราส์ (Walras' law) ถ้ามีอุปทานมากเกินไปในตลาดแห่งหนึ่ง จะต้องมีอุปสงค์มากเกินไปในปริมาณเท่ากันในตลาดอีกแห่งหนึ่ง

 


 

24. กฎความประหยัด (law of economizing) มนุษย์มีแนวโน้มในทางประหยัด โดยหาทางให้ได้กำไรสูงสุดสำหรับต้นทุนที่กำหนด และหาทางให้มีต้นทุนต่ำสุดสำหรับกำไรที่กำหนด

 


 

25. กฎการมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ (law of economic rationality) การกระทำของมนุษย์จะเป็นไปตามเหตุผลทางเศรษฐกิจถ้าความพึงใจของเขามีความคงเส้นคงวาและถ้าเขามีความประหยัด

 


 

26. ปรากฏการณ์แกฟฟ์นีย์ (Gaffney effect) การเก็บภาษีที่ดินจะเท่ากับอัตราส่วนลด (discount rate) สำหรับการใช้ที่ดิน เพราะถ้ามิฉะนั้น ประชาชนจะมีต้นทุนค่าสินเชื่อต่างกันสำหรับการซื้อที่ดิน

ไม่มีความคิดเห็น: