( (( )) )

18 ธันวาคม 2555

เศรษฐศาสตร์สามานย์

เชื่อไหมครับ วิชาเศรษฐศาสตร์ได้ถูกคอร์รัปชันในสหรัฐฯ โดยปัจจัยการผลิตที่มี ๓ ปัจจัย คือ ที่ดิน แรงงาน(กาย+สมอง) และ ทุน ถูกตัดเหลือ ๒ ปัจจัย ส่วนที่ขาดหายไปคือที่ดิน ได้ถูกนำไปรวมกับ ทุนเพราะพวกที่มีผลประโยชน์มากในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องการกลายเป็นเป้าเด่นตามที่เฮนรี จอร์จชึ้ให้เห็น
ข้อเขียนและคำปราศรัยของ Henry George (ค.ศ.1839-1897) ในช่วง 20 ปีสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เสนอให้ยกเลิกภาษีทั้งสิ้น ยกเว้นให้เก็บภาษีมูลค่าที่ดินเพียงอย่างเดียว ซึ่งได้รับการต้อนรับจากคนส่วนใหญ่ ทำให้กลุ่มอำนาจต้องหาทางรักษาสถานภาพที่เป็นอยู่ (status quo) ส่วนที่สำคัญก็คือพยายามมีอำนาจควบคุมการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ของสหรัฐฯ
ศาสตราจารย์ Mason Gaffney อธิบายว่าเศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิกเริ่มขึ้นเมื่อ John Bates Clark (ค.ศ. 1847-1938 ) ผู้มีชื่อเสียงด้านพัฒนาแนวคิดเรื่องผลิตภาพหน่วยท้ายสุด (marginal productivity) ถือเอาเป็นภาระหน้าที่ของตนที่จะต้องต่อต้าน Henry George   ต่อมา Clark ได้รับการย้ายไปยังมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แล้วบรรดาศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ที่คุ้นเคยกับการโต้แย้งทางจริยธรรมก็ถูกแทนที่ด้วยผู้ผ่านการศึกษาด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ๆ
สิ่งแรกที่กลุ่มนีโอคลาสสิกทำคือ การถอนเอา ที่ดินออกจากสมการเศรษฐกิจ โดยไม่ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่แตกต่างจากทุนและสินค้าที่ผลิตขึ้นมาด้วยการใช้แรงงาน โลกเศรษฐกิจจึงเหลือสิ่งสำคัญพื้นฐานเพียง 2 สิ่ง คือ แรงงาน และ ทุน อิทธิพลความคิดของ Henry George และกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เดิมที่เรียกว่า political economists แทบจะหมดไปในราวกลางทศวรรษที่เริ่มจาก ค.ศ.1920
ทางดาราศาสตร์มีสสารมืดหรือสิ่งที่เราเรียกว่าหลุมดำ (black hole) ทางเศรษฐศาสตร์ก็เปรียบผลตอบแทนต่อที่ดินเป็นสสารมืด เช่น ระหว่าง ค.ศ. 1975 ถึง 2005 GDP ของสหรัฐฯ โตมากกว่าร้อยละ 3 ต่อปี หลังหักค่าเงินเฟ้อแล้ว รายได้มัธยฐานของครอบครัว (median family income - มีจำนวนครอบครัวที่อยู่เหนือและใต้เส้นมัธยฐานเท่ากัน) กลับมีอัตราการเติบโตเพียง 0.8 % เท่านั้น การเติบโตส่วนอื่น ๆ ไปอยู่เสียที่ไหน ?

เรื่องแถม ใครขูดรีดแรงงาน นายทุน หรือ เจ้าของที่ดิน ?
โดยอาศัย ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน” (labor theory of value) ที่ผิดพลาด คาร์ล มาร์กซ์ได้อ้างว่ามูลค่าทั้งหมดเกิดจากแรงงาน ดังนั้นส่วนเกินจึงต้องเป็นค่าแรงที่ถูก นายทุนยึดไปโดยไม่เป็นธรรม
เฮนรี จอร์จได้แสดงให้เห็นอย่างถูกต้องว่าส่วนเกินคือค่าเช่าที่ดิน เพราะในระบบตลาดเสรี แรงงานจะได้รับชดเชยเต็มที่ตามผลิตภาพ แต่ผลิตภาพนี้ถูกกดอยู่ด้วยภาษี และการเก็งกำไรที่ดินซึ่งทำให้ขอบริมแห่งการผลิตถูกขยายออกไปยังที่ดินที่มีผลิตภาพต่ำลง และที่ดินเดิมมีค่าเช่าสูงขึ้น ค่าแรงจึงลดลง

ไม่มีความคิดเห็น: