( (( )) )

30 พฤศจิกายน 2555

Tyler Cowen อีกบล็อกที่ยอดนิยม

 




ท้องฟ้าเมืองกรุงตอนต้นมิถุนาปีนี้ช่างมืดครึ้มเสียเหลือเกิน หมู่เมฆดำทะมึนแผ่กว้างปกคลุมขอบฟ้าเบื้องตะวันออกจนถึงกลางฟ้า นี่ก็โมงกว่าเข้าไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าดวงตะวันยังคงอ้อยอิ่ง ไม่ค่อยเต็มใจที่จะขับไล่เอาความขมุกขมัวของอุษาสางให้พ้นไปจากขอบฟ้า เพื่อหลีกทางแก่ฉายฉานแห่งอรุณรุ่ง ให้ได้อวดสำแดงศักยภาพอันโชติช่วงของมันในแบบที่ควรจะเป็น...มันช่างช้าเชือนเสียนี่กระไรในเช้าวันนี้

ความอ้อยอิ่งช้าเชือนทำให้เกิดบรรยากาศอึมครึม งึมๆ งำๆ อิดๆ ออดๆ หัวก็ไม่ใช่ ก้อยก็ไม่เชิง ดังภาวะการเมืองไทยและสภาพการณ์เศรษฐกิจโลกในช่วงนี้นั่นเอง

ความไม่แน่นอนแทรกอยู่ในทุกอณูอากาศที่ผู้คนต่างหายใจเอามันเข้าไป คนที่เคยมีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมในอนาคต ก็ชักไม่แน่ใจ พูดได้ไม่เต็มปากเสียแล้ว นักทำนายอนาคตและคนสำคัญหลายคน-รวมถึงราษฎรอาวุโส- ยังแสดงความห่วงกังวลออกมาให้เห็นบ่อยครั้ง ทำให้ผู้คนยากจะสงบใจลงได้ในภาวะอย่างนี้ ต่างก็หวาดระแวงและต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ราวกับพายุฝนจะจู่โจมเอาได้ทุกเมื่อ

ความล่มสลายของระบบการเงินสหรัฐฯ และภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของหลายรัฐบาลในยุโรป ตลอดจนภาวะอาหารแพง น้ำมันพุ่ง และความวุ่นวายทางการเมือง ที่ประดังถาโถมเช้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ช่วยถ่วงความอึมครึมให้รีรออยู่ ไม่เปิดทางให้ความโชติช่วงชัชวาลได้กลับคืนมาแบบง่ายๆ

Stagnation จึงเป็นคำซึ่งเหมาะเจาะมากที่จะนำมาใช้อธิบายภาวะการณ์ของสังคมเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้

The Great Stagnation เป็นหนังสือเล่มใหม่ของ Tyler Cowen ที่สั้น กระชับ อ่านง่าย กระชากความคิด ให้หันมามองสาเหตุของความอึมครึมและแสวงหา Creative Solutions กันอย่างเป็นระบบ นักอ่านที่ไม่มีพื้นทางเศรษฐศาสตร์การเงินก็อ่านเข้าใจได้

แม้เนื้อหาจะว่าด้วยสหรัฐอเมริกา แต่วิธีวิเคราะห์และข้อเสนอแนะก็กินใจและกระตุ้นไอเดียได้มาก Blogger ชอบที่ Cowen บอกว่าสาเหตุที่สหรัฐฯ เผชิญความทุกข์เข็ญในวันนี้ เพราะขาดแรงจูงใจที่จะคิดหา Innovation ใหม่ๆ เอาแต่กินบุญเก่า อุปมาเหมือนดั่งคนมักง่ายที่เที่ยว เก็บเอาผลไม้ใกล้มือมากินเสียจนเกลี้ยงแล้ว นับแต่นี้ไป หากจะได้กินกัน ก็จำต้องออกแรงปีนป่ายหรือหาเครื่องทุ่นแรงมาสอยเอาจึงจะได้กิน

Innovation ที่สหรัฐอเมริกานำออกมาเปลี่ยนแปลงโลกในรอบหลายสิบปีนี้ กลับอยู่ในแวดวงจำกัด เช่น Silicon Valley ที่นำโด่งทางด้านคอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ ซอฟท์แวร์ และอินเทอร์เน็ต หรืออย่าง Wall Street ที่นำโด่งทางด้านการเงินการลงทุน การคิดค้น Financial Instuments ใหม่ๆ และการหมุนเงินตลอดจนควบคุมเงินทุนก้อนใหญ่ของโลกไว้ในมือ หรือแวดวงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอื่นอย่าง Nanotechnology, Biotechnology และ Artificial Intelligence นั้น Cowen ก็ว่ามันไม่ได้สร้างงานให้กับสังคมอเมริกันสักกี่มากน้อย เพราะงานเหล่านี้ต้องการทักษะเฉพาะ ต้องเป็นคนมีการศึกษาและมีทักษะระดับกลางขึ้นไป (Middle Skill) อีกทั้งกิจการเหล่านั้นยังได้จ้างวานให้จีนและเอเชียนำเทคโนโลยีของตนไปผลิตขั้นต้นเสียหมด ถ้าดูกันจริงๆ จังๆ แล้ว กิจการอย่าง Google, Facebook, Apple, หรือ Microsoft หรือ Investment Bank, Hedge Fund, Private Equity, Ventur Capital ก็มิได้สร้างงานให้กับคนสหรัฐฯ ทั่วไปมากสักเท่าใดนัก และงานส่วนใหญ่ที่สงวนไว้ในสหรัฐฯ กลับสำเร็จลงได้ด้วยเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ และหุ่นยนต์ หาได้พึ่งพาแรงงานมนุษย์สักกี่มากน้อยไม่

และความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ตอย่างมากมายนั้น แม้มันจะช่วยให้คุณภาพชีวิตมนุษย์ดีขึ้นมาก แต่มันกลับมิได้สร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจ ตรงข้าม มันกลับทำให้มูลค่าในบัญชีประชาชาติ (เช่น GDP) ลดลง ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้คนหันไปค้นคำจาก Wikipedia พวกเขาก็ซื้อหาพจนานุกรมกันน้อยลง หรือเมื่อผู้คนหันไปอ่านข่าวอ่านข้อมูลกันฟรีผ่าน Google หนังสือพิมพ์และนิตยสาร รวมตลอดถึงธุรกิจสื่อสารมวลชนอย่างเก่า ย่อมร่อยหรอรายได้ลงจนเกือบจะล้มหายตายจากกันไปเสียสิ้น หรืออย่างอุตสาหกรรมยาและ Healthcare หรือการศึกษา ที่ก้าวหน้าขึ้นมากในสหรัฐฯ แต่กลับส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลอย่างมากมายมหาศาลและเรื้อรัง เป็นต้น

Cowen จึงสนับสนุน Innovation ในอุตสหกรรมที่จะสามารถสร้างงานจำนวนมากได้ คือจำต้องหันกลับมามองและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมพื้นๆ อุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ เคยยิ่งใหญ่มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน เกษตรกรรม อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ขนส่ง ฯลฯ และสนับสนุนการปรับโครงสร้างเชิงการจัดการสำหรับ Healthcare และการศึกษา

ฟังดูแล้วก็น่าคิด!

นาย Cowen คนนี้เป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัย George Mason เคยจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเป็นคนอ่านหนังสือมากเหลือเกิน อ่านมันดะไปทุกแนว

เขาจึงมีอะไรคับอกคับใจอยู่ไม่น้อย และต้องระบายออกมาเสียมั่ง

Outlet ของเขาคือบล็อกชื่อ Marginal Revolution (เขียนและโพสต์ร่วมกับ Alex Tabarrox) เนื้อหาน่าอ่าน คลอบคลุมในหลายประเด็น แค่คลิกอ่านเม้นต์ต่อท้ายในแต่ละกระทู้ก็จะได้ไอเดียใหม่ๆ สะกิดใจไม่น้อยเลย

ไม่แปลกที่บล็อกของพวกเขาจะติดอันดับบล็อกยอดนิยม 1 ใน 10 ประเภท Economics Blog เคียงคู่ไปกับบล็อกของเศรษฐดาพยากรณ์นามอุโฆษอย่าง Paul Krugman, Gregory Mankiw, และ Robert Reich  

Blogger เพิ่งคลิกเข้าไปดูสารคดีของ BBC เรื่อง “All Watched Over by Maching of Loving Grace” ที่พวกเขาโพสต์ไว้ ว่าด้วยความคิดของ Ayn Rand ที่เกี่ยวโยงมาถึงการเกิดและเติบโตของ Silicon Valley และการล่มสลายของ Sub-Prime Crisis ทั้งแปลก ทั้งตื่นเต้น ทั้งอึมครีม ทั้งเหนือจริง

ไว้วันหลัง เราค่อยมาว่ากันด้วยเรื่อง Ayn Rand ซึ่งความคิดของเธอกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาจนได้รับความนิยมมากในหมู่นักการเงินและผู้ประกอบการแห่ง Silicon Valley อยู่อย่างแพร่หลายในขณะนี้

วันนี้ขอจบเพียงแค่นี้ก่อน www.marginalrevolution.com


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Financial Blog ของนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมิถุนายน 2554 ภายใต้นามปากกา Blogger

หมายเหตุ: คลิกอ่านบทความแนะนำ Financial Blog อื่นๆ ของผมได้ตามบทความข้างล่างครับ


***Greg Mankiw บล็อกเศรษฐกิจ NO.1


KICKSTARTER.COM เตะก้นให้ตั้งตัว

 





Kickstarter.com เป็นนวัตกรรมใหม่ในแวดวงการเงิน

มันเป็นกึ่งๆ Venture Capital กับเว็บไซต์ขายของล่วงหน้า

ในแง่ VC นั้น มันสามารถหยิบยื่นเงินก้นถุงให้กับผู้ประกอบการที่มีไอเดีย มีแรงบันดาลใจ มีแพชั่น มีโครงการ มีแผนธุรกิจจริงจังขึงขัง แต่บ่อจี้


วงการเงินเรียกเงินตั้งตัวก้อนนั้นว่า Seed Financing คือเอากันตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ เป็นเมล็ดความคิด ยังไม่รู้ว่าจะแตกเป็นหน่ออ่อน แล้วแตกกิ่งแตกใบ ให้ผลเหลืออร่ามน่ากิน หรือจะเหี่ยวแห้งเฉาตายไปก่อนเวลาอันควรหรือไม่อย่างไร


Seed Financing จึงเสี่ยงมากกว่าถึงมากที่สุด


มีแต่ VC บางประเภทเท่านั้นแหละที่เกิดมาเพื่อลงทุนแบบนั้น จะมาหวังให้ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปมาใส่ใจ คงหวังได้ยาก แม้หลายธนาคารจะโฆษณาจนออกนอกหน้าว่าตัวเองสนับสนุน SME แต่พอจะเอาเข้าจริง ก็ติดโน่นติดนี่ สุดท้ายก็ต้องโอละพ่อโดยการวางสินทรัพย์ค้ำประกันกันอยู่ดี

แล้วนายบิลเกตส์สมัยที่ยังหน่อมแน้มโนเนะ เพิ่งจะ drop out จากฮาร์วาร์ด หรือนายสตีฟ จ๊อบส์ ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นนิดนึง หรือแม้แต่นายมาร์ค ซุคเคอะเบิก สมัยยังเป็นนักศึกษาเมื่อไม่นานมาเนี่ย มันจะมีบ้านหลังโตๆ หรือผืนดินแปลงงามๆ หรือแม้แต่เครื่องจักรล้ำค่า ไปจดจำนองเพื่อกู้เงินมาตั้งตัวได้ไงละ

VC จึงเป็นที่พึ่งเดียวของมนุษย์พันธ์ุใหม่พวกนี้


ดังนั้น เมื่อเด็กหนุ่มหัวดีแต่ชอบความโลดโผนท้าทายพวกนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ แบบที่พวกเรารู้ๆ กัน บรรดา VC ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมากับคนเหล่านั้นตั้งแต่แรก ก็ล้วนแล้วแต่ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีกันไปในขบวนเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่พวกเขาเลือกจะอยู่เงียบๆ แล้วก็ออกค้นหาเพชรในตมเม็ดใหม่ของพวกเขาต่อไป


ในยุคที่คนทั่วโลกท่องอินเทอร์เน็ตกันทุกวัน วันละหลายๆ ชั่วโมงแบบทุกวันนี้ พวก VC หัวใสก็คิดออกว่าตัวเองควรฉวยโอกาสทดลองความคิดใหม่กับเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางให้มนุษย์พันธุ์หลงรักความเสี่ยงเหล่านั้นได้โคจรมาพบกับผู้สนับสนุนเงินทุนโดยตรงเลยโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง (อย่าว่าแต่ตัวกลางประเภทสถาบันการเงินเลย แม้แต่ VC ก็ถูกตัดออกด้วยละงานนี้)



Kickstarter.com จึงถูกทำคลอดออกมา


ทว่า Kickstarter ก้าวหน้าไปกว่า VC ปกติอยู่สามข้อ


ข้อแรกมันเข้าถึงคนเล็กคนน้อยได้จริง คือมันอนุญาตให้ใครก็ได้ จะเล็กจะน้อยแค่ไหนไม่เกี่ยง ขอให้มีโปรเจกต์เจ๋งๆ มานำเสนอ แม้วงเงินที่ต้องการจะไม่มาก ก็สามารถเข้ามาขอพึ่ง Kickstarter ได้เหมือนกัน


ข้อสองคือมันยอมให้ผู้สนับสนุนเงินทุน เป็นใครก็ได้ในโลกนี้ จะสนับสนุนเพียงเล็กน้อยหรือมากๆ ก็ได้ตามแต่ศรัทธาและกำลังของตน (โปรเจกต์ส่วนใหญ่ตั้งต้นกันเพียงแค่เหรียญฯ เดียวเท่านั้น) และการสนับสนุนก็ทำง่ายๆ โดยเพียงคลิกสองคลิก ผ่าน PayPal หรือผ่านบัตรเครดิตก็ยังได้

ข้อสามคือมันผูกพันผู้ประกอบการตั้งแต่แรกให้ระบุผลตอบแทนว่าผู้สนับสนุนแต่ละพวกจะได้อะไรเป็นการตอบแทน เมื่อโปรเจกต์นั้นๆ สำเร็จเสร็จสิ้นลงด้วยความเรียบร้อยแล้ว

โดยผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ส่วนใหญ่จะเป็น “ผลของงาน” หรือ “ตัวงาน” มากกว่าผลตอบแทนที่เป็นเงิน หรือ Capital Gain เหมือนกับ VC ที่ต้องคอย Exit ด้วยการขายหุ้นเมื่อกิจการเป้าหมายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือถูกเทคโอเวอร์โดยกิจการยักษ์ใหญ่ เป็นต้น

ฝรั่งเรียกผลตอบแทนแบบนี้ว่า Return-in-kind มิใช่ Return-in-cash


นั่นทำให้ Kickstarter.com มีลักษณะค่อนไปทางเว็บไซต์ขายของล่วงหน้าด้วยเช่นกัน (โดยรับเงินมัดจำจากผู้ซื้อหลายๆ คนมาเป็นขวัญถุงเพื่อจัดซื้อวัตถุดิบและจ้างแรงงานสำหรับผลิตของช้ินนั้น)


ถ้าใครลองคลิกเข้าไปดู Kickstarter.com ณ ขณะนี้ ก็จะเห็นหนังสั้นหรือ VDO Presentation ของสี่ห้าโปรเจกต์ที่เลือกสรรแล้วหราอยู่หน้าเว็บพร้อมกับคำอธิบายสั้นๆ เพียงให้ได้ใจความคร่าวๆ ว่าผู้ประกอบการแต่ละคนคิดจะผลิตหรือรังสรรค์อะไร หนังสั้น หนังสือการ์ตูน แอพพลิเคชั่นบนมือถือหรือไอแพท รองเท้าหนังตัดเย็บด้วยมือ หรือแม้แต่ผลงานศิลปะ ฯลฯ

เมื่อคลิกเข้าไปอีก ก็จะเห็นรายละเอียดและ Mock-up ที่พวกเขาทำมาให้ดูเพื่อจูงใจ “ผู้ลงทุน/ผู้จองซื้อล่วงหน้า” เป้าหมายของพวกเขา


คนที่ “ปิ๊ง” กับไอเดียของใครคนไหน ก็ส่งเงินให้เจ้าของโปรเจกต์ได้โดยคลิกส่งให้ตั้งแต่เหรียญฯ เดียวจนถึง 10,000 เหรียญฯ ตามแต่ความชอบความศรัทธาส่วนตน โดยเจ้าของโปรเจกต์ต้องสาธยายผลตอบแทนอย่างละเอียดไว้บนหน้าเว็บเลยว่า 1 เหรียญฯ ได้อะไรตอบแทน (เช่นได้คำขอบคุณเฉยๆ) 5 เหรียญฯ ได้อะไรตอบแทน (เช่นได้ไปรษณียบัตรขอบคุณส่งถึงบ้าน) 10 เหรียญฯ ได้อะไรตอบแทน (ได้ผลงานหนึ่งชิ้นเมื่อผลิตเสร็จ) 50 เหรียญฯ ได้อะไรตอบแทน (ได้ผลงานพร้อมลายเซนต์) 100 เหรียญฯ ได้อะไร...ฯลฯ

Blogger ว่าผู้ประกอบการไทยน่าจะลองใช้ช่องทางนี้กันให้มาก เพราะลงทุนลงแรงน้อย ไม่ต้องจ้างที่ปรึกษาการเงินมาวาดลวดลาย Cashflow Analysis หรือนักกลยุทธ์มาเขียนแผนธุรกิจให้วุ่นวาย ขอเพียง Presentation แบบเนียนๆ ก็ใช้ได้แล้ว


ข้อจำกัดมีเพียงอันเดียวคือต้องมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารในสหรัฐฯ เพื่อรับเงินสนับสนุนก้อนนั้น


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Financial Blog ของนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน 2554 ภายใต้นามปากกา Blogger


***โปรดคลิกอ่านข้อเขียนของผมที่ว่าด้วย Private Equity ได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้


Private Equity ห่วงโซ่อาหารข้อต้นๆ


เรื่องเล่าเรื่องล่าสุดของพ่อมดการเงินแห่งโอมาฮา

เรื่องเล่าเรื่องล่าสุดของพ่อมดการเงินแห่งโอมาฮา




สุขุมวิทวันนี้แดดดี ปุยเมฆขาวเป็นหย่อมๆ บ้างซ้อนกัน ฟอร์มตัวเป็นรูปคน สัตว์ สิ่งของ บ้างเหลื่อมกันแลดูเสมือนหัวคนตั้งอยู่บนบ่าพร้อมปอยผมสยาย แต่บ้างก็เคว้งคว้างอยู่อย่างเอกเทศ สูงต่ำซ้ายขวา กระจายทั่วท้องฟ้า ช่างนุ่มนิ่ม บางเบา สดสวย แต่ก็ไร้อิทธิฤทธิ์จะไปบดบังให้แสงสุริยันต์ลดดีกรีลงได้บ้าง

แม้ตะวันจะยังไม่กึ่งกลางฟ้า ทว่าความร้อนระอุต้นเดือนเจ็ดนี้ ไม่ย่อหย่อนไปกว่าตอนปลายเดือนห้าสักกี่มากน้อย ดีที่ลมตะวันตกเฉียงใต้ โชยมาเอื่อยๆ ทว่าเรื่อยๆ สม่ำเสมอ มาแต่เช้าจนยามสาย ยังช่วยให้ผู้คนในคอนโดมิเนียมข้างบนโน้นเปิดหน้าต่างรับลมกันได้บ้าง


ม่านและมู่ลี่ทะยอยคลี่ลงกันแดด แต่กระนั้น อาคารสำนักงานระฟ้าถัดไปหน่อยเดียวหลังนี้ ก็ยังสะท้อนเอาพยับแดดลอดผ่านทะลุทะลวงพุ่งเข้าตาเราจนได้ อานุภาพของกระจกหลายพันบานรอบอาคารช่างร้ายกาจเสียนี่กระไร


ดีที่เครื่องปรับอากาศของตึกเราทำงานกันเต็มสตีม ข้าพเจ้าถึงสามารถมานั่งเล่าเรื่องชิลๆ ให้ท่านฟังกันได้ โดยไม่หงุดหงิดแล้วหมดกำลังใจไปซะก่อน


ขณะนี้เป็นเวลา 11.00 น. ของวันที่ 6 มิถุนายน 2554


ก่อนหน้าหลายวัน มีหมายมาแจ้งให้สื่อมวลชนทราบก่อนแล้วว่า Warren Buffet ณ โอมาฮา อภิมหาเศรษฐีใจบุญและนักลงทุนผู้มีภาพว่าเก่งกาจเหนือมนุษย์ จะมาเสนอตัวบน eBay.com โดยจะอนุญาตให้ใครก็ได้ไปร่วมรับประทานอาหารกับเขาได้มื้อหนึ่ง และยังสามารถพาเพื่อนฝูงไปร่วมโต๊ะได้อีก 7 คน แต่มีข้อแม้ว่าเขาผู้นั้นจะต้องชนะประมูลใน eBay เสียก่อน


จนถึงขณะนี้ การประมูลได้เริ่มไปแล้วประมาณชั่วโมงครึ่ง และจะมีไปจนถึง 3 ทุ่มครึ่งของสายวันที่ 11 มิถุนายน ในเวลาประเทศไทย เทียบเท่ากับคืนวันที่ 10 ของสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันออก เวลา 7.30 PDT หรือ Pacific Daylight Time


ราคาประมูล ณ ขณะนี้ ยังเรี่ยอยู่เหนือระดับราคาเปิดเพียงเท่าตัวคือประมาณ 50,000 เหรียญฯ แต่มีผู้ประมูลอยู่แล้ว 2 ราย สิงห์ปืนไวสองรายนี้เพิ่งเข้ามาบี้กันเมื่อชั่วโมงที่ผ่านมา...สงสัยจะเป็นสาวกหรือแฟนพันธุ์แท้ของบัฟเฟต



แน่นอน...เรื่องราวคงไม่ปิดฉากลงเพียงเท่านี้่!



คะเนดูด้วยสายตาของคนนอก กับอาศัยข้อมูลเก่าเป็นพื้น ไอ้ประมูลครั้งนี้คงจะไม่เกินไปกว่า ราคาปิดของปีก่อนเป็นแน่ เพราะพูดก็พูดเถอะ ภาวะเศรษฐกิจโลกยังง่อยเปลี้ยเสียขาอยู่


ก่อนหน้านี้หลายปี ก่อนที่สวรรค์จะล่มลงพร้อมกับกวาดเอาผู้เล่นซับไพร์มลงตระกร้าล้างน้ำใหม่อย่างหวุดหวิด นายเจ้าต้านหยาง นักลงทุนชาวฮ่องกงก็เคยทำสถิติชนะประมูลมาแล้วที่ 2.1 ล้านเหรียญฯ...นับว่าใจถึงพอดูกับเงินกว่า 70 ล้านบาท ณ ขณะนั้น กับข้าวเที่ยงเพียงมื้อเดียว


นั่นเป็นสถิติที่สูงที่สุดและเว่อร์ที่สุด!


มันพิสูจน์สัจธรรมข้อที่ว่าคนรวยในโลกนั้นรวยกันจริงๆ จังๆ...รวยโครตรวย...เพราะถ้าเกิดยอมเสีย 70 ล้านเพื่อข้าวมื้อเดียวได้ มันคงจะมีกันเป็นหมึ่นๆ ล้าน...ว่ามั้ย ส่วนไอ้ที่จนนั้น ไม่ต้องหาเหตุผลมาพิสูจน์อะไรให้เยอะแยะเสียเวลา เพราะพวกเราเห็นกันตำตาอยู่แล้วทุกวี่วัน ในเมืองไทยเรานี้ยังรบราฆ่าฟันกันด้วยเรื่อง “จน” และยังไม่รู้จะลงเอยแบบไหน อย่าว่าแต่ที่อียิปต์หรือลิเบีย ซึ่งลุกลามใหญ่โตอย่างที่รู้เห็นกันอยู่ พูดก็พูด แม้เรื่อง “เครื่องบินชนตึก” นี่ก็เพราะแขกเขาไม่พอใจฝรั่งในเรื่อง “รวย-จน” อีกนั่นแหละ แล้วมันก็เกิดตั้งคำถามและข้อสงสัยกันขึ้นมาเองว่า ถ้าเกิดมันไม่เอาเปรียบมากมาย มันจะรวยล้นฟ้าแบบนี้ได้ยังไง มันต้องเอารัดเอาเปรียบโดยระบบการค้าหรือระบบทุนนิยมหรือแสนยานุภาพ ทางใดทางหนึ่ง ให้สามารถกอบโกยเอาไปแบบเป็นล่ำเป็นสัน เพราะมันผิดธรรมชาติ ด้วยเห็นอยู่ตำตาว่าคนจนนั้นจนติดดิน และมีอยู่เกลื่อนกลาดทั่วโลก ทั้งๆ ที่จำนวนมาก อาศัยทาบทับอยู่บนพื้นที่อันรุ่มรวยเหลือล้นไปด้วยทรัพยากรแลโภคทรัพย์อันอุดม


บางคนอาจเถียงว่ามันเป็นเรื่องของคนรวยเขา แต่ผมก็อยากจะรู้จริงๆ ว่ามูลนิธิ Glide เจ้าภาพงานนี้ เขาได้เอาเงินไปสร้างมรรคผลอันใดให้คนเล็กคนน้อยคุ้มค่าหรือไม่ เพราะผมว่าทำแบบนี้มันเป็นการไปโปรโมตให้คุณบัฟเฟตเขาได้มีหน้ามีตายิ่งขึ้น จนกลายเป็นความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์มนา และเป็นตำนานไปโดยปริยาย ซึ่งเขาจะได้ใช้ Mystic Value อันนี้ย้อนกลับไป Make Money ให้ตัวเองอีกทอดหนึ่ง ด้วยวิธีเพิ่ม “ตัวคูณ” และ Market Capitalization ของหุ้น Berkshire Hataway ให้โป่งพองยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ดังที่ผมเคยวิเคราะห์เส้นทางความรวยของเขามาแล้วอย่างละเอียดเมื่อปีก่อน (อ่าน “ลอกคราบวอเร็น บัฟเฟต” ได้ใน คลิกตรงนี้ได้เลยครับ)

สำหรับเขาแล้ว “ชื่อเสียง” นับเป็น Asset ที่สำคัญที่สุด!

ลองได้หากินแบบเขาแล้ว “ชื่อเสียง” ย่อมสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ทั้งส้ิน!

ผมอ่านรายงานประจำปีล่าสุด 2010 ที่เพิ่งได้มาโดยตลอดแล้ว ก็เห็นว่าคราวนี้เขาได้เน้นย้ำเรื่อง “ชื่อเสียง” และ “วิธีรักษาชื่อเสียง” มากยิ่งขึ้นแบบสุดๆ เพราะหลายคนคงทราบแล้วว่า เพิ่งจะเกิดเรื่องราวไม่ดีไม่งามขึ้นในบริษัทของเขา ที่ผู้บริหารใกล้ชิดคนหนึ่งดันไปกว้านซื้อหุ้นกิจการ ก.ไก่” ไว้ก่อนที่ Berkshire Hataway จะเข้าไป Takeover โดยเขาคนนั้นก็รู้อยู่เต็มอก

แบบนี้ แม้จะกลบเกลือนไปว่าทำถูกกฎหมายของสำนักงาน กลต. แต่ก็ “ฟังไม่ขึ้น” เพราะมันผิดจรรยาบรรณอย่างจัง สุดท้าย ไม่รู้ว่าบัฟเฟตทำอีท่าไหน นายคนนั้นจึงลาออกไปได้โดยละม่อม แต่มันก็ทำให้ผู้คนเสียความรู้สึก ว่าเอ๊ะ ทำไมคนที่เที่ยวเทศนาคนโน้นคนนี้ และตั้งตัวเป็นศาสดา สร้างภาพเสียงดงาม จึงปล่อยให้บริวารคนสำคัญทำแบบนี้ได้ไง

ท่านลองฟัง “น้ำเสียง” ขึงขังของเขาดู.....



“This is my biennial letter to reemphasize Berkshire’s top priority and to get your help on succession planning (yours, not mine!).
The priority is that all of us continue to zealously guard Berkshire’s reputation.  We can’t be perfect but we can try to be.  As I’ve said in these memos for more than 25 years: “We can afford to lose money - even a lot of money.  But we can’t afford to lose reputation - even a shred of reputation.”  We must continue to measure every act against not only what is legal but also what we would be happy to have written about on the front page of a national newspaper in an article written by an unfriendly but intelligent reporter...(...)....
If you see anything whose propriety or legality causes you to hesitate, be sure to give me a call....(...)...
As a corollary, let me know promptly if there’s any significant bad news.  I can handle bad news but I don’t like to deal with it after it has festered for awhile.  A reluctance to face up immediately to bad news is what turned a problem at Salomon from one that could have easily been disposed of into one that almost caused the demise of a firm with 8,000 employees.....


เห็นไหมครับ ว่าเขาเอาจริงเอาจังกับชื่อเสียงมากเพียงใด และเขียนแบบกระแนะกระแหนนักข่าวให้ได้แสบๆ คันๆ อย่างเรื่องที่เขาต้องยุบ Salomon Brother กับมือ ก็ดูเหมือนจะโทษว่าเป็นเพราะตัวรู้ข่าวร้ายช้าไปนิด จนทำให้คนตั้ง 8,000 คนต้องถูกลอยแพ เป็นต้น

นั่นเป็นบางตอนจาก Memo ที่เขาเขียนขึ้นเอง แล้วเวียนไปให้กับกรรมการและผู้จัดการทุกคนในเครือข่ายของ Berkshine Hathaway ได้อ่าน โดยเขาลงวันที่ไว้เมื่อ 26 กรกฎาคม 2553 แต่ตั้งใจเอามาตีพิมพ์เปิดเผยให้ทุกคนรู้ในรายงานประจำปีที่ต้องประกอบกับการประชุมผู้ถือหุ้น ณ เมืองโอมาฮา เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง (ผมเป็นคนขีดเส้นใต้เพื่อเน้นย้ำ “น้ำเสียง” ในแง่นี้ของเขา)


แน่นอน...เรื่องราวคงไม่ปิดฉากลงเพียงเท่านี้่หรอก!


เรื่องร้ายๆ ของบัฟเฟตยังถูกขุดขุ้ยตามมาอีกเป็นระลอก พร้อมๆ กับ Scandal ครั้งนี้ ราวกับบรรดา “นักข่าวที่ไม่ใช่เพื่อนแต่ฉลาด” (ตามคำของเขาเองว่า “unfriendly but intelligent reporter”) จงใจรวมหัวกันเพื่อจะ “จับเขาแก้ผ้าจนเห็นเนื้อใน” ให้ได้ ทั้งๆ ที่เขาเองควบคุมสื่อมวลชนสำคัญๆ ไว้ในมือจนแทบจะอยู่หมัด
ยิ่งเด่น ยิ่งดัง ยิ่งใหญ่ ยิ่งรวย ก็ยิ่งตกเป็นเป้า

เรื่องราวมันคงจะไม่แย่ไปกว่านี้ ถ้าไม่เพราะบริวารใกล้ชิดคนที่ดันไปกว้านซื้อหุ้นไว้ก่อนคนนั้นเผอิญเป็น Dave Sakol ซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าจะมารับไม้แทนบัฟเฟตเมื่อเขาเกษียณ (และกิจการ “ก.ไก่” ที่นายคนนั้นแอบกว้านซื้อหุ้นแบบลับๆ ก่อนก็คือ Lubrizol Corp. นั่นเอง เผื่อว่าท่านผู้อ่านที่ต้องการทราบเรื่องโดยละเอียดจะสามารถเข้าไปค้นคว้าต่อในอินเทอร์เน็ตได้)...


เลยจะไปห้ามคนไม่ให้คิดไปในทางลบได้ยังไงหล่ะ....เพราะแหม! ขนาดระดับบัฟเฟตเนี่ยน๊ะ ยังดูคนผิดอีกเหรอ ผิดขนาดเลือกเอาโจรมาเป็น Successor เชียวเหรอเนี่ย

เรื่องมันก็เลยเลยเถิดกันไปใหญ่ ถึงขั้นลำเลิกกันขนาดขุดเอาเรื่องเก่าขึ้นมาแฉโพยให้เห็นกันว่า “เนี่ย...ดูสิ เขาไม่ได้เพิ่งจะมาแกล้งโง่แกล้งเซ่อ ปล่อยให้คนอื่นทำชั่วน๊ะ เคยเกิดเรื่องแย่ๆ กับมือแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่กี่ครั้งกี่ครั้ง เรื่องฉาวโฉ่เหล่านั้นก็ไม่เคยแปดเปื้อนเขาเลย คนอื่นล้วนตายแทนเขาทุกครั้งไป แต่แม้จะจับไม่ได้คาหนังคาเขา ก็ต้องถือว่าสมรู้ร่วมคิดล่ะ...แล้วอย่างนี้จะยังยกย่องกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาต่อไปงั้นเหรอ?”
แต่ละเรื่อง ผมฟังแล้วก็ว่า “มีมูล”

อย่างเรื่องที่เขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ Moody’s มาตลอด แต่ดันปล่อยให้สถาบันแห่งนั้นจัดอันดับตราสารซับไพร์มไปด้วยและเข้าไปรับค่าธรรมเนียมในการช่วยออกตราสารขายด้วยพร้อมกันไป ซึ่งจริงๆ แล้วเป็น Conflict of Interest อย่างจัง


มีอย่างที่ไหน ออกตราสารเองแล้วก็ให้คะแนนเอง ชงเองกินเองเสร็จสรรพ แต่เขาไม่เคยออกมาพูดมาเตือนอะไรแม้แต่แอะเดียว เพราะตัวเองก็ได้ประโยชน์ จนตอนหลังซับไพร์มเจ๊ง ก็ทำเป็นออกมาเทศนาคนอื่น และยังพูดเป็นนัยอีกว่าเคยเตือนแล้ว เป็นต้น...นี่ก็ทำให้นักข่าวและเพื่อนฝูงในวงการเงินที่ไม่ใข่สาวกหมั่นไส้เอามากๆ

นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่ General Re กิจการในเครือของเขา แอบช่วยปกปิดความผิดและบิดเบือนบัญชีของ AIA จนผู้บริหารระดับสูงของ Gen Re ต้องติดคุกถึง 4 คนด้วยกัน และไหนจะยังความผิดของ Coke ซึ่งเขาเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และนั่งอยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบ แต่ก็ปล่อยให้ Coke ทำผิดกฎ กลต. อย่างอื้อฉาวเมื่อหลายปีก่อน

และไหนจะเกี่ยวกับที่ปรึกษากฎหมายและกิจการตรวจสอบบัญชีใกล้ชิดที่ทำมิดีมิงามอีกมาก เช่นเข้ามาซื้อขายหุ้นของ Berkshine อย่างแอบๆ ทั้งๆ ที่รู้ข้อมูลภายในดีและรู้ว่าไม่สมควร แต่พอสืบสาวเข้าไปก็ล้วนเกี่ยวข้องกับเพื่อนฝูงญาติมิตรใกล้ชิดของบัฟเฟตทั้งสิ้น (ในกรณีที่ปรึกษากฎหมายนั้นโยงมาถึงลูกชายเขาเอาเลยด้วยซ้ำ)

นั่นกระมัง ที่ทำให้หุ้นเขาไม่ไปไหนเลย ราคา Sideway อยู่อย่างนั้นมาเป็นปีๆ แล้ว ทั้งๆ ที่ผลประกอบการปลายปีที่ผ่านมาของ Berkshine จะสวนกระแสเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างแรง

กำไรสุทธิปลายปีที่แล้วเพิ่มขึ้นกว่า 60% มาเป็น 12,967 ล้านเหรียญฯ จากปีก่อนหน้าที่ได้เพียง 8,055 ล้านเหรียญฯ แต่ราคาหุ้นกลับเคลื่อนไหวอยู่ในราว 109,000-131,500 เหรียญฯ ต่อหุ้นเท่านั้นเอง (ผมอ้างอิงราคาในรอบปี 52 สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อให้เห็นลักษณะ Sideway ของหุ้น)

ขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับที่ท่านกำลังอ่านอยู่ในวันนี้ หุ้น Class A ของ Berkshine (BRKa) ซื้อขายกันที่ 113,250 เหรียญฯ  ตกลงมาจากช่วงเวลาเกือบปีที่ผ่านมา ซึ่งปิดที่ราคา 115,815 เหรียญฯ ในขณะนั้นที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับเรื่องก่อนหน้าคือ“ลอกคราบวอเร็น บัฟเฟต” หลังจากได้รับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นและอ่านรายงานประจำปีพร้อมทั้ง Edgar File ที่กิจการของเขาแจ้งไปยังสำนักงาน กลต.สหรัฐฯ อย่างละเอียด หลังเหตุการณ์ “ราชประสงค์” จบลงไม่นาน

เห็นรึยังครับว่า “ชื่อเสียง” และ “ภาพลักษณ์” นั้นเป็นเลือดเป็นเนื้อของเขายังไง ทำไมเขาถึงพร่ำสอนให้บริษัทบริวารของเขาท่องจำไว้ให้ขึ้นใจแบบซ้ำๆ ซากๆ ว่าเขายอมเสียเงินแต่ไม่ยอมเสียชื่อ เข้าทำนอง “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์” ถ้าจะพูดให้เท่ห์ๆ น่ะ


ยัง...เรื่องยังไม่ปิดฉากแต่เพียงเท่านี้!



เมื่อยามเช้าย่ำเท้าเข้าสู่ยามบ่าย ตะวันคล้อยข้ามยอดตึกไปแล้ว ลำแดดถูกไล่ต้อนไปยังฟากกะโน้น สุขุมวิทยามบ่ายของเดือนเจ็ดก็ได้ดื่มด่ำกับหยาดฝน จนห้องฝั่งตะวันออกกลับมาร่มรื่นอีกครา ผมรีบคลิกเข้าไปที่หน้าจอเพื่อขอ Pre-qualify ว่าจะส่ง Bid เข้าไปบี้ราคาใน “ศึกวันกินข้าว” กับเขาด้วยคน (ขอตั้งชื่อให้คล้ายๆ “ศึกวันทรงชัย” ที่เวทีราชดำเนินครั้งกระโน้น)

เปล่า...เปล่าหรอก ผมไม่ได้อวดร่ำอวดรวยอะไร จะเข้าไปร่วมสู้ราคากับเขาเพื่อ Observe การประมูลครั้งนี้ให้ใกล้ชิดขึ้นมาอีกหน่อยเท่านั้นแหละ แล้วจะได้จดจำเอาความเป็นมาเป็นไปกลับมาเล่าให้ท่านที่เป็นแฟน MBA ฟังยังไงล่ะ

และผมก็รู้อยู่แล้วว่า ถึงใส่ราคาไปซัก 500,000 เหรียญฯ อั้นไปแค่นั้นพอ แต่ยังไงๆ มันก็คงจะไม่ชนะอยู่แล้ว (แต่ถ้าเกิดชนะขึ้นมา ก็คงจะไม่มีเงินไปจ่ายเขาแน่ๆ หรือไม่ก็ต้องเอา “สิทธิ” นี้ไปขายต่อให้กับบรรดาเศรษฐีไทยที่อยากจะไปกินข้าวกับบัฟเฟต เพราะมีสิทธิชวนเพื่อนไปด้วยอีกตั้ง 7 คน ก็เฉลี่ยๆ กันไปละกัน จะได้ถือโอกาสนั้นสัมภาษณ์ Exclusive มาตีพิมพ์ด้วยเลย (ฮา)...)

ทันใดนั้น การตอบรับของเจ้าภาพก็ส่งถึงผมทันทีเหมือนกัน โดยเขาขอให้ผมผ่านกระบวนการตรวจสอบ eBay ID และแจ้งหมายเลขบัตรเครดิต พร้อมกับขอ Bank Guarantee จากธนาคารที่ผมมีบัญชีเงินฝากอยู่ เพราะราคาประมูลตอนนั้นเกิน 49,999 เหรียญฯ ไปแล้วนั่นเอง (โปรดอ่านจดหมายตอบกลับจาก Glide ผู้ดำเนินการประมูลครั้งนี้ที่มีมาถึงผมได้ท้ายบทความนี้)

คือเจ้าภาพเขากลัวว่าถ้าเกิดคนประมูลได้แล้วดันไม่มีเงินจ่าย มันจะทำให้เขาต้องเปิดประมูลใหม่ เสียเวลา ดังนั้น Bank Guarantee หรือ Letter of Honor ของธนาคารจะช่วยให้เขาอุ่นใจได้ระดับหนึ่ง

เช้าวันต่อมา ผมรีบเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ดูทันทีเมื่อลุกจากเตียง ในใจคิดไปว่าสายๆ จะให้คนโทรศัพท์ไปขอจดหมายรับรองสถานะทางการเงินจากธนาคาร...ที่ไหนได้ เกิดมีคนอยากกินข้าวแพงกันแยะ ทำให้การต่อกรบนหน้าจอผ่านอินเทอร์เน็ต เกิดการคลุกวงในนัวเนีย ราคาจึงแรง จนผมชักจะพิพักพิพ่วนใจ

$1,000,011 มิใช่เงินน้อยๆ
แล้วก็แรงขึ้นไปอีก เป็น $1,511,011 หลังจากผมอาบน้ำเสร็จ
ไม่ไหวแล้วจ้า...ขอดูอย่างเดียวดีกว่า


แต่ยัง...เรื่องยังไม่จบแค่นี้!



เพราะอีกสองวันต่อมา ราคามันยิ่งแรงกว่าเก่า $2,000,011 แล้วก็ไปจบที่ $2,345,678.00 ในวันสุดท้าย...เลขสวย


ผมลอง x 30 = 70,370,340 ล้านบาท...คุ้มไหมกับอาหารมื้อหนึ่งที่ร้านสเต็ก Smith & Wollensky ในนิวยอร์กกับวอเร็น บัฟเฟต พร้อมเพื่อนอีก 7 คน แล้วก็คงจะได้บุญด้วย เพราะเงินจำนวนนี้เขาจะนำไปช่วยเด็กผ่านมูลนิธิ GLIDE

ท่านผู้อ่านตอบกันเอาเอง


แน่ละ...การประมูลจบลงไปแล้ว แต่เรื่องราวของพ่อมดการเงินแห่งโอมาฮาคงยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้!

--------------




โปรดสังเกตราคาที่ค่อยๆ แรงขึ้นๆ


แล้วก็ปิดที่ราคาสุดท้าย




เช็คบิล!
---------------------------------------
ส่วนข้างล่างนี้เป็นจดหมายตอบรอบ Pre-qualify ของผู้จัดการประมูลซึ่งส่งมาที่เมล์ผม
Good afternoon sir or ma’am –
You recently expressed interest in qualifying to bid on the GLIDE Warren Buffet Lunch auction.  (You are receiving this email rather than a direct phone call either because something was wrong with the phone number you listed on the pre-qualification form, or you are in a different time zone in which it is not logical for me to call you at this time.)  As of right now, the bidding is up to just over $2 million USD.  If you are still interested in bidding on this experience, we will need you to verify some information.  Please respond directly to this email and verify your eBay user ID, as well as your phone number and mailing address.  Let us know if you are bidding for yourself, or on behalf of someone else or a group.  If you are bidding on behalf of a group, or intend to bring guests along with you to the lunch with Mr. Buffet, we will need each person’s full name.  Please also note your intended maximum bid.  In order to get you qualified to bid on this item, we will also need you to provide a letter of honor/guarantee or a bank statement from your financial institution in order to verify funds up to the amount of your desired maximum bid.  You can fax the document(s) to 805-786-0320, or email it directly to me atmiranda@kompolt.com.
If you no longer express interest in bidding on this auction, please disregard this email.
Thank you in advance.
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
Miranda Mayes | Asst. Auction Manager
KOMPOLT



O: 805-786-0150 x25  | AIM: CMGMirandaM
...................................................................................
หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกรกฎาคม 2554 โดยวลีที่ว่า "เรื่องราวคงไม่ปิดฉากลงเพียงเท่านี้" หรืออะไรที่ใกล้เคียงนั้น ผมได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องสั้นชั้นยอดของคุณศิริวร แก้วกาญจน์ เรื่อง "ชีวประวัติฉบับย่อของตระกูลคนรับจ้างคัดหนังกวางจากนางาซากิ" ที่ตีพิมพ์ใน "ความมหัสจรรย์ครั้งยิ่งใหญ่และเรื่องราวอื่นๆ" สำนักพิมพ์ผจญภัย พิมพ์ครั้งที่ 2 เดือนพฤษภาคม 2554 หน้า 176-189 จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

***โปรดคลิกอ่านเรื่องที่ผมเขียนเกี่ยวกับ Warren Buffet ได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้ครับ