( (( )) )

6 พฤศจิกายน 2555

1 สินค้า 2 ราคา (Two-Part Tariffs)

ก่อนอื่นขอเริ่มอธิบายการตั้งราคาค่าโดยสารแท็กซี่ก่อนว่า ราคาค่าโดยสารของแท็กซี่มีสองส่วน ส่วนที่คิดตามจำนวนครั้งของการขึ้น (35 บาทต่อครั้ง) และส่วนที่คิดเวลาที่อยู่บนรถ (โดยอาจจะเป็นตามระยะทาง (5.0-8.5 บาทต่อกม.) หรือตามเวลาจริงที่รถติดก็ได้) โดยถ้ารัฐบาลกำหนดให้ค่าโดยสารส่วนที่คิดตามจำนวนครั้งของการขึ้นแพง พี่แท็กซี่ก็คงจะอยากไปใกล้ๆ ให้เวลาที่อยู่บนรถสั้นๆ เพื่อให้ได้จำนวนครั้งของคนขึ้นที่มากกว่า รายได้ก็จะสูงกว่า ขณะที่ถ้าค่าโดยสารส่วนที่คิดตามเวลาที่อยู่บนรถแพง พี่แท็กซี่ก็คงจะอยากให้ผู้โดยสารอยู่นานๆ โดยอยากจะไปไกลๆ หรือไม่ก็ไปในที่ที่รถติดๆ เพื่อให้มีรายได้ดีกว่า

ลักษณะการตั้งราคาค่าโดยสารแท็กซี่ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Two-Part Tariffs ซึ่งหมายถึงการตั้งราคาเชิงซ้อน หรือพูดง่ายกว่านั้นก็คือ “1 สินค้ามี 2 ราคา” อันที่จริงเราเจอกับสินค้าเหล่านี้มากมายในชีวิตประจำวัน ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์มือถือ (ค่าวัน+ค่าโทร) หรือแม้แต่สินค้าที่จะต้องใช้ประกอบกันจึงจะทำงานได้ แต่ถูกตั้งราคาแยกกัน เช่น โทรศัพท์มือถือ+แบตเตอรี่ เครื่องปรินท์เตอร์+หมึกพิมพ์ ที่เห็นได้ชัดก็คือ บางยี่ห้อตั้งราคาเครื่องปรินเตอร์แพง+หมึกถูก แต่บางยี่ห้อก็เครื่องปรินเตอร์ถูก+หมึกแพง ซึ่งสุดท้ายแล้วเราต้องจ่ายทั้งสองราคาจึงจะใช้บริการได้เช่นเดียวกับแท็กซี่

ดังนั้น หากพี่แท็กซี่นิยมปฏิเสธ เมื่อต้องไปไกลๆ การกำหนดราคาค่าโดยสารที่เน้นคิดตามเวลาที่อยู่บนรถมากกว่าจำนวนครั้งที่ขึ้นจะช่วยให้พี่แท็กซี่อยากให้ผู้โดยสารอยู่นานขึ้น แน่นอนว่าหากกำหนดส่วนเน้นคิดตามระยะเวลาบนรถสูงมาก เขาอาจจะกลับมาปฏิเสธการไปส่งใกล้ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นสัญญาณว่าค่าโดยสารที่เน้นระยะเวลาสูงเกินไปโดยเปรียบเทียบกับค่าโดยสารที่คิดต่อครั้งแล้ว การหาสมดุลของราคาสองส่วนนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้พี่แท็กซี่ไม่ได้รับความรู้สึกแตกต่างไม่ว่าจะไปใกล้ๆ หรือให้ผู้โดยสารอยู่นานๆ นอกจากนี้ แนวคิดนี้ยังช่วยในการกำหนดสัดส่วนระหว่างค่าระยะทางกับค่าเวลาด้วย เช่น ถ้าพี่แท็กซี่มักปฏิเสธการไปในที่รถติดๆ แปลว่าค่าเวลาถูกเกินไป ต้องไปลดค่าระยะยทางแล้วมาเพิ่มที่ค่าเวลาแทน แต่ถ้าเพิ่มสูงเกินไป พี่แท็กซี่ก็จะคอยวิ่งหาที่รถติดๆ นั่นเอง

……….

ในกรณีของค่าบริการแท็กซี่ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ พี่แท็กซี่มักจะปฏิเสธลูกค้าในช่วงเร่งรีบ เนื่องจากความต้องการแท็กซี่มีมาก พวกเขาจึงสามารถเลือกรับลูกค้าที่เดินทางไปในระยะทางที่เขาน่าจะได้กำไรสูงสุดได้ ขณะที่นอกช่วงเร่งรีบ พี่แท็กซี่มักไม่ค่อยปฏิเสธ เพราะโอกาสที่จะได้ลูกค้าคนใหม่นั้นไม่ง่ายนัก และโอกาสที่จะได้ลูกค้าที่เดินทางในระยะทางที่น่าจะได้กำไรสูงสุดก็ยิ่งยากเข้าไปอีก

ในทางเศรษฐศาสตร์ สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเพราะการตั้งราคาไม่ยืดหยุ่น สินค้าหรือบริการบางประเภทจึงต้องทำการตั้งราคาที่ต่างกันในและนอกช่วงเร่งด่วน (Peak and Off-Peak Pricing) เช่น โรงหนังจะคิดค่าตั๋วหนังถูกลงในคืนวันพุธ (เพราะคนดูน้อย) การคิดค่าไฟฟ้าที่ไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลาเพื่อลดการใช้ในช่วงที่มีผู้ใช้มาก ร้านอาหารมีส่วนลดให้กับลูกค้าหากเข้ามากินในช่วง 15:00-17:00 เป็นต้น

การคิดราคาค่าโดยสารแท็กซี่แตกต่างกันในและนอกช่วงเร่งด่วนนั้น นอกจากจะเพิ่มราคาให้พี่แท็กซี่ในช่วงเร่งด่วนแล้ว ยังช่วยกระจายลูกค้าให้คนที่ไม่จำเป็นในช่วงเร่งด่วนไปใช้ในช่วงไม่เร่งด่วนแทน จะได้ไม่ต้องมีแท็กซี่ว่างเยอะในช่วงไม่เร่งด่วน แต่กลับไม่เพียงพอในช่วงเร่งด่วน

……….

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจคิดว่าการเสนอให้ขึ้นราคาในช่วงเร่งด่วนอาจกลายเป็นการเพิ่มราคาค่าโดยสาร แต่ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะทางที่ถูกต้องคือปรับโครงสร้างค่าโดยสาร หมายความว่า อาจจะลดค่าโดยสารนอกช่วงเร่งด่วนลง แต่เพิ่มค่าโดยสารในช่วงเร่งด่วน จนพี่แท็กซี่ไม่ได้มีรายได้ลดลง หรือเมื่อถึงเวลาปรับค่าโดยสารใหม่ ให้ปรับไม่เท่ากันในสองช่วงเวลาก็ได้

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การขึ้นราคาค่าโดยสารแท็กซี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาการปฏิเสธรับผู้โดยสาร เพราะพี่แท็กซี่(บางคน)ก็ยังคงเลือกระยะทางที่ได้กำไรสูงที่สุดอยู่ดี เพียงแต่เขาจะได้กำไรมากขึ้น ขณะที่ทางแก้นอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว มันเป็นประเด็นเรื่องของโครงสร้างราคาสองส่วนคือ อัตราค่าโดยสารที่เน้นระยะเวลาอยู่บนรถแท็กซี่เปรียบเทียบกับค่าโดยสารที่คิดต่อครั้ง และอัตราค่าโดยสารที่ต่างกันในและนอกช่วงเร่งด่วน

ไม่มีความคิดเห็น: