( (( )) )

5 พฤศจิกายน 2555

เกมล่ากวาง (Stag Hunt Game)

ทฤษฎี “เกมล่ากวาง” (Stag Hunt Game)

มีนายพราน 2 คน เข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ ถ้าเขาร่วมมือกันเพื่อล่ากวาง [ต้องช่วยกัน ไม่อย่างนั้น กวางจะวิ่งหนีไป] เขาได้กวาง แบ่งกันคนละครึ่ง และกินไปได้คนละ 3 วัน เพราะกวางตัวใหญ่ ผลได้ของนายพรานทั้งสองคนคือ (3,3) ขณะที่ถ้าต่างคนต่างล่า เขาจะได้เพียงกระต่ายกันคนละตัวกลับบ้าน และกินไปได้แค่ 1 วัน เพราะกระต่ายตัวเล็ก ผลได้ของนายพรานทั้งสองคนคือ (1,1) แต่ถ้าคนหนึ่งพยายามล่ากวาง อีกคนหนึ่งล่ากระต่าย คนที่ล่ากวางจะไม่ได้อะไรเลย แต่คนที่ล่ากระต่ายก็จะได้กระต่ายทั้งสองตัว ผลได้ของนายพรานจึงเป็น (0,2) หรือ (2,0) ขึ้นอยู่กับว่าใครล่าอะไร

แน่นอนว่า ดุลยภาพของเกมนี้มี 2 ที่ ที่แรกคือ ถ้าคนทั้งสองร่วมมือกัน เขาจะได้กวางไปกิน คนละ 3 วัน และจะไม่มีใครที่หยุดความร่วมมือ เพราะผลได้หากเขาไม่ร่วมมือนั้นคือกระต่ายที่กินได้เพียง 2 วัน ขณะที่หากทั้งสองคนไม่ร่วมมือกัน ดุลยภาพจะอยู่อีกที่หนึ่งคือต่างคนต่างล่ากระต่าย และจะไม่มีใครเปลี่ยนใจไปล่ากวาง เพราะจะไม่มีอะไรกิน และอีกคนจะได้กระต่ายไปทั้งสองตัว

วิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้ส่งผลให้สถานการณ์ของประเทศไทยที่เคยเป็นดุลยภาพของ (กระต่าย,กระต่าย) กลายมาเป็น (กวาง,กวาง) ทันที เพราะทุกคนร่วมแรงร่วมใจที่จะฝ่าวิกฤตไปให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องดี

แต่ที่จริงแล้ว หากผลลัพธ์ของเกมมีการเล่นนอกข้อตกลงขึ้น หมายความว่า นายพรานคนใดคนหนึ่งเกิดรับปากว่าจะไปล่ากวางด้วย แต่ก็ไม่ยอมไป ซ้ำร้าย วันที่นัดกันไปล่ากวาง เขาแอบไปล่ากระต่ายก่อน [เพราะกระต่ายล่าง่ายกว่า] แล้วเอาเวลาที่เหลือไปขโมยของที่บ้านนายพรานคนนั้นอีก

ผลก็คือ หากเขาร่วมมือกันล่ากวาง หรือแยกกันล่ากระต่าย ผลได้จะไม่เปลี่ยนไป แต่ผลได้ของการเล่นนอกกติกานั้น จะทำให้ทั้งสองคนไม่ได้ไปล่ากวางร่วมกัน นายพรานคนหนึ่งจะไม่มีอะไรกิน แต่นายพรานอีกคนหนึ่งจะได้กระต่ายไปกิน 2 วัน และขโมยอาหารที่อีกคนเก็บไว้ (สมมติว่ากินไปได้อีก 2 วัน) ในกรณีนี้ ผลได้จะกลายเป็น (0,4) หรือ (4,0) แล้วแต่ว่าใครเป็นคนฉวยโอกาส

ดุลยภาพกรณีเช่นนี้จะเปลี่ยนจากความร่วมมือกัน กลายเป็นคนที่ฉวยโอกาสมีอาหารกินถึง 4 วัน ซึ่งมากกว่าทุกกรณี และมากกว่าคนที่ร่วมแรงร่วมใจ ดังนั้น ต่อไปนี้ นายพรานทั้งสองคนจะไม่มีทางร่วมมือกันได้ เพราะแต่ละคนย่อมต้องการจะโกงเสมอเมื่อมีโอกาส [อันที่จริงแล้ว ลักษณะของเกมแบบนี้คือ เกมนักโทษ (Prisoner's Dilemma)]

หากเราเพิกเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือเห็นอกเห็นใจผู้ที่ฉกฉวยโอกาส ผลได้เช่นกรณีของเกมที่สองจะเปลี่ยนแปลงสังคมใน 2 เรื่องใหญ่ๆ หนึ่งคือกลายเป็นว่าคนฉวยโอกาสได้ประโยชน์ (หรือคนที่ร่วมแรงร่วมใจเสียประโยชน์) และสองเท่ากับว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติอีก จะยิ่งจูงใจให้มีคนฉวยโอกาสมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ทำอย่างไรจึงไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ คำตอบก็คือต้องลดผลได้ที่เขาได้รับจากการฉวยโอกาสลงมา จนกระทั่งติดลบ แค่ริบสิ่งที่เขาฉกฉวยไปคงไม่พอ แต่ต้องลงโทษขั้นรุนแรง(มากพอ) เช่น ติดคุก หรือปรับหลายเท่า ไม่เช่นนั้นแล้ว สังคมจะตกอยู่ในสภาวะของเกมนักโทษ และไม่มีวันดีขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น: