( (( )) )

6 พฤศจิกายน 2555

มือที่สาม

ในปัจจุบัน หันไปมองทางไหน ทุกคนก็มีแฟนหมดแล้ว โดยเฉพาะถึงขั้นพูดกันว่าคนดีดีก็คงมีแฟนกันหมดแล้ว แต่เชื่อไหมว่าต่อให้เขาคนนั้นมีแฟนแล้ว แต่เหตุการณ์มือที่สามก็ไม่วายมีโอกาสเกิดขึ้นได้ บทความนี้มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ว่า ทำไมรักสามเส้าจึงเกิดขึ้น และเราจะไม่ให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
– ฝ่ายหญิงนั้นเปรียบเสมือนผู้บริโภค (consumer) ส่วนแฟนเธอนั้นเปรียบเสมือนผู้ผลิต (producer) ที่คอยป้อนเวลาแห่งความสุข (goods) ให้เธอ เช่น การเทคแคร์ดูแลเอาใจใส่เธอ ซึ่งฝ่ายหญิงก็จะคอยดูแลตัวเองให้สวย น่ารัก ตามใจแฟนบ้างเพื่อดึงดูดใจแฟนเธอเอาไว้ ซึ่งนั่นก็คือราคา (price) ที่ฝ่ายหญิงต้องจ่ายในการซื้อเวลาจากแฟนเธอนั่นเองครับ
– ณ ดุลยภาพแรกหัวใจของฝ่ายหญิง (market) มีแต่แฟนเพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งก็เท่ากับว่าเป็นลักษณะของตลาดผูกขาด (monopoly) ทางด้านฝ่ายชายเพื่อที่จะหาความสุขใส่ตัวให้มากที่สุด (maximize profit) ก็จะให้เวลากับเธอจนถึงระดับที่หน่วยสุดท้ายของความสุขที่ได้อยู่กับเธอเท่ากับหน่วยสุดท้ายของความทุกข์ที่เสียเวลาส่วนตัวไป (marginal revenue = marginal cost: MR = MC) ครับ ฉะนั้นแล้วฝ่ายหญิงจะต้องซื้อเวลาแห่งความสุขมา ณ ระดับราคาที่สูงกว่าต้นทุนเฉลี่ย (price > average cost: P > AC)

– ในช่วงเวลานี้ จึงเป็นโอกาสของมือที่สาม (มือที่สามไม่ใช่มือที่มองไม่เห็น) เข้ามาพยายามแบ่งหัวใจเธอ ซึ่งจะทำได้ง่ายหรือยากขึ้นอยู่กับอุปสรรคการเข้าสู่ตลาด (barrier to entry) โดยประกอบด้วย
—— อุปสรรคทางด้านการผลิต เช่น แฟนของเธอโทรเช็คตลอด (technological barrier) แฟนของเธอไม่ทำงานเอาแต่ตามแจ (labor cost barrier)
—— อุปสรรคทางด้านการบริโภค เช่น ข้อมูลของฝ่ายหญิงมีราคาในการหามาได้ เช่น เบอร์โทรศัพท์ของเธอเบอร์อะไร (information cost) ฝ่ายหญิงมีความซื่อสัตย์สูง (brand loyalty)
—— พึง“ระวัง”การผูกขาดตามธรรมชาติ (natural monopoly) ที่ผู้ผูกขาดสร้างภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับรายอื่นได้ เช่น ผู้ชายเป็นลูกนักการเมือง เป็นหลานนายพล
– หากสามารถผ่านอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดได้ เมื่อเริ่มจีบ มือที่สามจะพยายามเสนอเวลาแห่งความสุขให้กับฝ่ายหญิงด้วยราคาที่ต่ำกว่าของแฟนเธอ
– ส่วนแฟนของเธอ เมื่อเห็นดังนั้นก็ต้องลดราคาของเวลาที่ให้ฝ่ายหญิงลงมาเช่นกันเพื่อไม่ให้เสียฝ่ายหญิงไป ช่วงนี้ฝ่ายหญิงสามารถเล่นตัวได้มากขึ้นกว่าตอนที่หัวใจเธอถูกผูกขาดอยู่แค่แฟนคนเดียวครับ ราคาความสุขจากแฟนเธอและมือที่สามจะลดไปได้สูงสุดที่ระดับราคาเท่ากับต้นทุนฉลี่ย (price = average cost: P = AC) ซึ่งถ้าแฟนเธอและมือที่สามมีต้นทุนเท่ากันจะเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ (Bertrand-Nash equilibrium) แต่ถ้าทั้งสองคนมีต้นทุนไม่เท่ากันแล้ว สงครามหัวใจครั้งนี้ก็จะจบลงโดยที่ต้องมีคนอกหักไปตามระเบียบ (คนที่มี AC สูงกว่า)
– แต่ไม่ว่าใครจะต้องอกหักฝ่ายหญิงจะมีความสุขมากขึ้นครับ (consumer surplus เพิ่มขึ้นเพราะหาซื้อความสุขได้มากขึ้นในราคาที่ลดลง) และโอกาสที่ทั้งแฟนเธอและมือที่ 3 จะสมคบคิด (collude) เพื่อร่วมมือกันจีบสาว (cooperative game) นั้นเกิดขึ้นได้ยาก เป็นเพราะว่าไม่ว่าใครก็ต้องการหัวใจของฝ่ายหญิงไปทั้งหมด (100% market share)
– ขณะที่ฝ่ายหญิงกลับสามารถเล่นตัวโดยการแบ่งส่วนเวลาออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน ให้ทั้งสองฝ่ายยังคงแข่งขันกันต่อไป โดยแต่ละฝ่ายได้รับการจัดสรรปริมาณเวลาครึ่งๆ กรณีนี้จะเข้าสู่ Cournot-Nash equilibrium เพราะเป็นดุลยภาพทางด้านปริมาณ

– นอกจากนี้ ฝ่ายหญิงก็อาจจะคบสองหนุ่มไปพร้อมๆ กันได้ หากทั้งมือที่สามและแฟนเธอไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว โดยมือที่สามอาจเข้ามาเสนอความสุขให้เธอในรูปแบบที่ต่างไปจากแฟนเธอ (product differentiation) เช่น พาไปเที่ยวที่ใหม่ๆ ทำกิจกรรมใหม่ๆ ทำให้ความสุขจากแฟนเธอและมือที่สามไม่สามารถทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์ (imperfect substitute) แต่ดุลยภาพนี้จะดำเนินไปได้นานเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิงครับว่าจะสับรางยังไง รวมถึงการเล่นนอกเกม ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น เมื่อแฟนเธอหมดความอดทน ฝ่ายมือที่สามก็อาจจะโดนดักตีหัวได้ง่ายๆ
– สุดท้าย เมื่อฝ่ายหญิงเลือกคนใดคนหนึ่งในที่สุดก็จะต้องมีคนที่เสียใจซึ่งอาจจะเสียใจมากถึงขั้นไปปรับทุกข์กับสุราจนไม่ได้สติ (random walk) ในสถานการณ์เช่นนี้เพื่อนๆต้องเข้าไปปลอบใจ โดยแนะนำให้ไปหาสาวอื่นแทน (new market)
นัยเชิงนโยบายของเรื่องนี้ก็คือ หากคุณซึ่งเป็นแค่คนธรรมดา ไม่ใช่ลูกนักการเมืองหรือหลานนายพลกำลังคบหาดูใจกับใครสักคนอยู่ และไม่อยากให้มีมือที่สามเขามาเกี่ยวข้อง คุณก็จงดูแลคนรักของคุณให้ดีอย่างเต็มที่ นั่นคือ ดูแลที่ P = AC ไปเลย ไม่ใช่ MR = MC เพียงเท่านี้ก็จะไม่มีใครเข้ามาแบ่งใจของคู่รักของคุณไปได้แล้วล่ะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: