( (( )) )

10 พฤศจิกายน 2555

ทำไมต้องเศรษฐศาสตร์

บทความนี้เรียบเรียงขึ้นในลักษณะเรื่องเล่าแทนที่จะเป็นวิชาการในแบบทความอื่นที่ผ่านมา ทั้งนี้ด้วยมีความมุ่งหวังในผู้อ่านเข้าใจพลังในการอธิบายของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่มากมายแม้แต่เรื่องราวในชีวิตประจำวัน ไปพร้อมๆ กับความสนุกสนานในการอ่านบทความนี้ เน้นว่าเนื่องจากเป็นเรื่องราวสนุกๆ ดังนั้น อย่าจริงจังกับเนื้อหาของบทความมากเกินไปนะครับ เดี๋ยวจะไม่สนุกเอา แต่ทั้งนี้ ขอแนะนำว่าผู้อ่านควรมีความรู้พื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์อยู่บ้างพอสมควร

วิชาเศรษฐศาสตร์นั้นเริ่มต้นจากความเป็นจริงพื้นฐานที่ว่า โลกมีทรัพยากรอยู่จำนวนจำกัด (Limited Resources) แต่มนุษย์มีความต้องการอยู่อย่างไม่จำกัด (Unlimited Wants) จึงก่อให้เกิดความขาดแคลน (Scarcity) ขึ้นในสังคม และเศรษฐศาสตร์นี่เองที่เป็นแนวคิดสำคัญในการพิจารณาแนวทางการจัดสรรทรัพยากรเพื่อบำบัดความต้องการดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด (Best Allocation)

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ ก็คงต้องนึกไปถึงบทที่ 1 ของวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นตัวแรกที่เรียนกันตอนปี 1 ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาว่ากระบวนการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นกระทำได้ดีเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการดังกล่าวสามารถตอบปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Basic Economic Problems) ที่ทุกระบบเศรษฐกิจกำลังเผชิญอยู่ได้ดีเพียงใดนั่นเอง

นิสิตเศรษฐศาสตร์ทุกคนย่อมนึกออกทันทีว่าปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เคยเรียนกันมานั้นประกอบด้วย ๑) What ควรจะผลิตสินค้าอะไร ๒) How ควรจะผลิตสินค้านั้นอย่างไร และ ๓) For Whom ควรจะผลิตสินค้านั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของใคร ซึ่งหากแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ การจัดสรรทรัพยากรก็จะเป็นไปอย่างดีที่สุด (แต่วิชาเศรษฐศาสตร์ก็อาจจะไม่มีความหมายอีกต่อไป)

เราคงต้องขอบคุณความขาดแคลน การแย่งชิงและความยุ่งเหยิงในระบบเศรษฐกิจ ที่สนับสนุนให้สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ดำรงอยู่ และเติบโตขึ้น เมื่อสิ่งเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลา แต่รู้ไหมว่า แท้ที่จริงแล้ว สาเหตุที่ทุกระบบเศรษฐกิจ (อย่างน้อยก็ประเทศไทย) ยังคงเผชิญกับปัญหานี้อยู่ก็เพราะนักเศรษฐศาสตร์เองยังตอบปัญหาพื้นฐานที่ตนเองเผชิญไม่ได้ ปัญหาที่ผมกำลังพูดถึงเริ่มต้นมาจากรากฐานตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิตที่มักตอบคำถามนี้ไม่ได้คือ Why โดยเฉพาะ Why (Economics)? “ทำไมต้องเศรษฐศาสตร์?”

คำตอบสำหรับนิสิตเศรษฐศาสตร์เองข้อนี้ค่อนข้างยาก เพราะแค่จากจุดเริ่มต้นก่อนตัดสินใจมาเรียนเศรษฐศาสตร์ ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะตอบไม่ได้แล้วว่า “ทำไมถึงต้องไปเรียนเศรษฐศาสตร์?” หรือที่แย่กว่านั้นคือคนที่กำลังเรียนเศรษฐศาสตร์อยู่ หลายคนก็ยังตอบไม่ได้ว่า “เรียนเศรษฐศาสตร์แล้วเอาไปใช้ทำอะไร?” สุดท้ายยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เพราะคนที่จบเศรษฐศาสตร์หลายคนเองก็สงสัยว่า “เราเรียนอะไรกันไป?”

อันที่จริงแล้ว ก่อนจะลงมือเขียนบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนได้พยายามหาคำตอบอยู่ (ทั้งที่ก็หาอยู่ตั้งแต่เป็นนิสิต) แต่เพื่อบทความนี้ ผู้เขียนจะพยายามบอกให้ได้ว่า “ทำไมต้องเศรษฐศาสตร์?” ด้วยการชี้ให้เห็นพลังในการอธิบายของเศรษฐศาสตร์ที่แม้แต่กับเรื่องการดำเนินชีวิตของนิสิต เศรษฐศาสตร์ก็ทำได้

ลองนึกตามเรื่องราวที่กำลังจะเล่ากัน………

เริ่มต้นจากข้อสมมติเบื้องต้น (Basic Assumptions) ที่กำหนดให้ข้อความที่จะเขียนต่อไปนี้ถูกต้องทุกประการ หากมีข้อสงสัยประการใด ห้ามถาม หากมีข้อโต้แย้งใดใด ก็ห้ามเถียงด้วยเช่นกัน เพราะบทความนี้ต้องการแสดงพลังในการอธิบายชีวิตประจำวันด้วยความสนุกสนานเท่านั้น

เมื่อเราตื่นนอนตอนเช้า เรารู้สึกงัวเงีย โดยรู้ว่า หากตื่นนอนตอนนี้เพื่อแต่งตัวออกไปเรียน ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ของการนอนจะเกิดขึ้น แต่การเข้าเรียนก็อาจจะทำให้เกิดผลประโยชน์ (Benefit) ขึ้นบ้าง (หากเรียนรู้เรื่อง ซึ่งโดยปกติ ความน่าจะเป็น (Probability) ของการเรียนรู้เรื่องอยู่ในระดับต่ำมาก) จากนั้น เราก็จะประมวลผลโดยใช้การวิเคราะห์ต้นทุนและผลได้ (Cost-Benefit Analysis) ซึ่งพบว่า ความน่าจะเป็นต่ำ (เพราะน่าจะเรียนไม่รู้เรื่อง) ผลได้ก็ต่ำ (เพราะถ้ารู้เรื่อง ก็คงรู้เรื่องไม่มาก) ขณะที่ต้นทุนสูง (เพราะกำลังนอนสบาย) สมการของเราในตอนเริ่มตื่นคือ Net Benefit = [p(ต่ำ) x B(ต่ำ)] – C(สูงมาก) นอกจากนี้ เราก็ยังพบว่า Cost under Certainty (ถ้าไปเรียนก็อดนอนแน่ๆ) มากกว่า Benefit under Uncertainty (ไม่แน่ว่าจะเรียนรู้เรื่องหรือไม่) ซึ่งทั้งหมดจะทำให้เราก็จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง(ตามหลักเศรษฐศาสตร์)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราฝืนความชอบ (Preference) ของตนเองเพื่อมาเข้าเรียน เราก็จะยิ่งตระหนักชัดว่า ทรัพยากรซึ่งในที่นี้ก็คือ เวลา มีอยู่อย่างจำกัด (Limited Resources) และควรต้องจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด (Efficient Allocation) กล่าวคือ ไม่น่ามาเลย

ไม่เป็นไร ในครั้งต่อๆ ไป เราก็จะสามารถจัดสรรได้อย่างที่เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเราเกิดการเรียนรู้ในการปรับตัว (Learning Effect) จนสุดท้ายเราจะได้ความสมดุลในการจัดสรรเวลานอนส่วนที่เพิ่มขึ้นและเวลาเรียนส่วนที่ลดลง (Marginal Benefit of Studying = Marginal Cost of Sleeping) นั่นคือ มาเรียนสาย(นิดหน่อย)ภายใต้เงื่อนไขความพอใจจากการนอนสูงที่สุด (Optimization with Constraint)

เมื่อเรานั่งเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค เราก็ได้แต่นั่งปั่นการบ้านวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค เมื่อย้ายไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค เราก็ได้แต่นึกว่าวิชาสถิติเรียนไม่รู้เรื่อง และเมื่อไปเรียนวิชาสถิติ ก็นึกขึ้นได้ว่าเมื่อเช้าเศรษฐศาสตร์จุลภาคสอนอะไรไปบ้างหว่า….. นี่คือสถานการณ์หนึ่งของการไม่มีความสอดคล้องกันระหว่างความต้องการของผู้ให้และผู้รับ (Double Coincidence of Wants) และเราก็มักเป็นแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาด้วยสิ………เฮ้อ

เมื่อเรียนจบคาบ เราย่อมตระหนักดีว่า ความรู้แค่เรียนจบเทอมก็ลืมหมดแล้ว (Consumption Goods) แต่เกรดติดตัวเราไปตลอดชีวิต (Durable Goods) ประกอบกับการที่ตลาดแรงงานมีข่าวสารไม่สมมาตร (Asymmetric Information) ดังนั้น เกรดเฉลี่ย(น่าจะ)สำคัญกว่าความรู้ เพราะเป็นการส่งสัญญาณ (Signaling) ของการได้รับเงินเดือน (อย่างน้อยก้อตอนเริ่มต้น)

ตกเย็น เราจึงไปติวพิเศษ เพราะวัตถุประสงค์หลักคือสอบให้ผ่านหรือได้เกรดดีดี ภายใต้ความพยายามอันมีจำกัด ดังนั้น เป้าหมาย (Objective Function) คือคะแนน ส่วนข้อจำกัด (Constraint) คือความพยายาม เราจึง Maximize Objective Function under Effort Constraint เพื่อหาค่าสูงสุด……….(แม้ผลมันจะออกมาไม่ค่อยสูงเท่าไหร่)

ต่อมา เมื่อเลิกติวพิเศษตอนหัวค่ำ เราเดินไปศูนย์หนังสือเพราะอยากซื้อหนังสือ และพบว่าหนังสือราคา 400 บาท วิเคราะห์แล้ว “ไม่คุ้มค่า” เพราะเราคงใช้แค่ไม่กี่วันก่อนสอบ (และก็ไม่ได้ใช้อีก) เราจึงไม่ซื้อ จากนั้น เราไปเดินพารากอน เห็นเสื้อสวยแต่ราคา 1,000 บาท เราซื้อทันที เพราะความพึงพอใจ (Utility) ของเสื้อสูงกว่าความพอใจของเงิน 1,000 บาท (แน่นอนว่าจากหลัก Transitive แล้วสูงกว่าความพอใจของหนังสือ 400 บาทแน่ๆ) เราจึงกลับมาคิดว่า มนุษย์มีเหตุมีผล (Rationality) ตามหลักเศรษฐศาสตร์จริงๆ จึงรู้จักแยกแยะว่า สินค้าใดเป็นสินค้าจำเป็น (Necessary Goods) และสินค้าใดเป็นสินค้าไม่จำเป็น (Bads)

นอกจากนี้ ถ้าเราซื้อของเพลิดเพลินจนเงินที่ได้มาจากที่บ้านหมดก่อนกำหนด บทบาทของพ่อแม่ในฐานะผู้ให้กู้รายสุดท้าย (Last Resort) แบบที่ธนาคารกลางเป็นอยู่ก็เกิดขึ้นมาในความคิด และระบบอุปถัมภ์ (Cronyism) ก็ยังมีประโยชน์อยู่บ้างในสังคม (อย่างน้อยก็กับเราตอนนี้)

เสร็จธุระทั้งหมด เรากลับบ้าน แม่ซึ่งกำลังดูละครอย่างสนุกสนานใช้ให้เราไปล้างจาน เราก็แอบหงุดหงิด เพราะกำลังเหนื่อยๆ เนื่องจากเพิ่งกลับมา แต่พอเดินไปล้างจาน เหลือบไปเห็นพ่อกำลังซักผ้าอยู่พอดี นี่เองที่มโนทัศน์ทางด้านชนชั้น (Class) ของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และการแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) ของอดัม สมิธ (Adam Smith) มาบรรจบกันพอดีระหว่างพ่อ แม่และเรา

ตกกลางคืน เราคุยโทรศัพท์กับแฟน ถ้าเพิ่งจีบกันก้อคงคุยกันสัก 4-5 ชั่วโมง แล้วค่อยนอน ก่อนนอนยังแอบส่งข้อความไปหาอีก ทั้งนี้เพราะเรารู้ดีว่าเรากำลังอยู่ในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competitive Market) แต่ถ้าเป็นแฟนกันแล้วสักพัก เวลาที่ใช้ในการคุยโทรศัพท์ก้อคงเหลืออยู่สัก 4-5 นาที เนื่องจากสภาพตลาดได้เปลี่ยนมาอยู่ในสภาวะของการผูกขาด (Monopoly) อีกทั้งความพึงพอใจของการคุยกับแฟนก็เริ่มอยู่ในจุดที่ลดน้อยถอยลงด้วย (Diminishing Marginal Utility)

จนกระทั่งวันหนึ่งพอใกล้สอบ เราก้อจะเข้าใจถึงการบริโภคข้ามเวลา (Inter-temporal Consumption) เพราะว่าเวลาที่แสนดีในช่วงก่อนใกล้สอบได้ถูกยืมไปบริโภคหมดแล้วในช่วงที่ผ่านมา แถมตลาดประกันภัย(จากการสอบ)ก็ไม่มีเสียด้วย (Lack of Contingent Claim Markets)

แต่เชื่อไหมว่า…เราสามารถอ่านหนังสือที่เคยตั้งใจว่าจะเริ่มอ่านมาตั้งแต่เปิดเทอม จนถึงสองวันก่อนสอบยังอ่านได้ไม่ถึง 10 หน้า จนจบทั้งเล่มได้ภายในสองวันที่เหลือ เราจึงทราบว่า ประสิทธิภาพ (Efficiency) คือหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจจริงๆ (รวมทั้งชีวิตเรา)

เมื่ออยู่ในห้องสอบ เราจะนึกภาวนาให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรามีอะไรที่ก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก(ทางบวก)กับเรา (Externality) โดยเฉพาะถ้าทำไม่ได้ เราก็จะยิ่งภาวนาให้เกิดสภาวะที่เขียนอะไรก็ไม่รู้แต่ดันถูก (Adverse Selection) แต่พอผลสอบออกมาเราก็ได้เรียนรู้ว่า ผลสอบเป็นสินค้าเอกชน (Private Goods) ไม่ใช่สินค้าสาธารณะ (Public Goods) เพราะทำแค่ไหนก็ได้เองแค่นั้น (Excludable) หรือเรียกอีกอย่างว่า “กฎแห่งกรรม” มีจริง ในที่นี้กรรมก็คือสินค้าเอกชนนั่นเอง

ไม่เป็นไร การสอบผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เพราะความรู้ที่เรามีอยู่สำคัญกว่า ปิดเทอมเราไปเที่ยวกับเพื่อนๆ จากหลายๆ สาขา ลองนึกดูว่า การบอกใครๆ ว่าเรียน “เศรษฐศาสตร์” จะทำให้เราดูน่าสนใจ (ทั้งที่หลายคนแทบจะไม่รู้อะไร) ความรู้ “เศรษฐศาสตร์” ทำให้เราสามารถพูดถึงเงินเป็นร้อยๆ ล้านได้อย่างน่าเชื่อถือ ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจจะมีเงินอยู่ในกระเป๋าไม่ถึงร้อยบาท หรือเราอาจจะพูดถึงกระบวนการเก็งกำไร (Speculation) ค่าเงินในวันนี้ได้เป็นฉากๆ ทั้งที่ตัวเองยังใช้หนี้ที่ขาดทุนจากการเก็งกำไรเมื่อวานนี้ไม่หมด หรือแม้แต่เราอาจจะอธิบายเรื่องดอกเบี้ย (Interests) ได้อย่างมากมาย ทั้งที่ข้อสอบเศรษฐศาสตร์มหภาคเมื่อวันก่อนถามแค่เสี้ยวเดียวของทฤษฎีอัตราดอกเบี้ย แต่เราก็ยังงงๆ อยู่เลย

นอกจากนี้ การเรียนเศรษฐศาสตร์ยังจะช่วยให้เราอธิบายเพื่อนที่ถามได้ทุกเรื่อง เช่น เมื่อมีคนถามเราว่า “พรุ่งนี้หุ้นจะขึ้นหรือลง” “เมื่อไหร่ดอกเบี้ยจะลง” หรือ “ทำไมอัตราแลกเปลี่ยนถึงแข็งค่าขึ้น” เราสามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้โดยอ้างถึง “การเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทาน หรือเป็นการทำงานของกลไกตลาด” (Market Mechanism)

แต่เมื่อไม่เป็นไปตามที่เราบอก เช่น หุ้นลงทั้งที่เราทายว่าขึ้น ดอกเบี้ยไม่ลงในเวลาที่เราบอก แถมยังปรับขึ้นอีก และเหตุผลที่เคยอธิบายถึงการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ไม่ทันข้ามวัน มันกลับอ่อนค่าลงอย่างหนัก ทั้งนี้ เราก้อแค่ตอบเขาไปว่า “เพราะมีปัจจัยภายนอกมากระทบ” (Exogenous Factors) หรือไม่ก็ “กลไกตลาดไม่ทำงาน” (Market Failure)

โดยหลักการทางคณิตศาสตร์แล้ว เราเรียกว่า Complete คือ มันต้องเป็นจริงในกรณีใดกรณีหนึ่งแน่ๆ เนื่องจากมันมีแค่กลไกตลาดทำงานหรือไม่ก็ล้มเหลว สิ่งนี้ทำให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก นิสิตเศรษฐศาสตร์สามารถอธิบายได้หมด (ยกเว้นอธิบายตอบข้อสอบวิชาเศรษฐศาสตร์) รวมทั้ง หากเราจบไปแล้วเกิดหางานทำไม่ได้ (ซึ่งเป็นเรื่องปกติของบัณฑิตเศรษฐศาสตร์) เราก็ยังสามารถอธิบายกับคนอื่นๆ ได้ว่า อัตราการว่างงานมีกี่ประเภท เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีผลกระทบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น หากไม่เชื่อว่า ความรู้เศรษฐศาสตร์สามารถใช้อธิบายได้ทุกเรื่อง อ่านบทความนี้จบแล้วลองเดินไปซื้อน้ำผลไม้ที่ร้านสะดวกซื้อ แล้วลองสังเกตดูว่า ร้านนี้เปิด 24 ชั่วโมง 7 วัน พูดง่ายๆ คือร้อยวันพันชาติไม่เคยปิด แต่ทำไมร้านนี้ต้องมีที่ล็อคประตู? ถ้าถามพนักงานที่ร้าน แล้วเขาตอบไม่ได้ (ยกเว้นเขาเรียนเศรษฐศาสตร์) แต่คำถามนี้ เชื่อสิว่านิสิตเศรษฐศาสตร์ทุกคนตอบได้…..ลองนึกดู

ไม่มีความคิดเห็น: