( (( )) )

6 พฤศจิกายน 2555

เวลาไม่เคยมีค่า ถ้ามันยังไม่ผ่านเลยไป

เพื่อนๆ หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวหนึ่งที่บอกว่า

ถ้าอยากรู้ว่าเวลา 4 ปีมีค่าแค่ไหน ให้ไปถามนิสิตนักศึกษาที่เพิ่งรับปริญญาจากมหาวิทยาลัย

ถ้าอยากรู้ว่าเวลา 1 ปีมีค่าขนาดไหน ใหัไปถามนักเรียนที่สอบไล่ตก

ถ้าอยากรู้ว่าเวลา 1 ชั่วโมงมีค่าขนาไหน ให้ไปถามคนรักที่รอพบกัน

ถ้าอยากรู้ว่าเวลา 1 นาทีมีค่าขนาดไหน ให้ไปถามคนที่พลาดรถไฟ รถประจำทางหรือ เครื่องบิน

ถ้าอยากรู้ว่าเวลา 1 วินาทีมีค่าขนาดไหน ให้ไปถามคนที่รอดตายจากอุบัติเหตุอย่างหวุดหวิด

ถ้าอยากรู้ว่าเวลา เสี้ยวหนึ่งของวินาทีมีค่าขนาดไหน ให้ถามนักกีฬาโอลิมปิคที่ได้เหรียญเงิน

และถ้าอยากรู้ว่ามิตรภาพนั้นมีค่าขนาดไหน ให้ลองเสียเพื่อนสักคนหนึ่ง

เวลาไม่เคยมีค่า ถ้ามันยังไม่ผ่านเลยไป

และมันจะมีค่า จนทำให้คุณร้องไห้ได้ หากมันผ่านคุณไปแล้ว

เวลา(ของแต่ละคน) เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป คนอื่นไม่สามารถใช้อีกได้ (Rivalry) และสามารถกีดกันไม่ให้คนอื่นมาใช้เวลาของเราได้ (Excludable) ดังนั้น เวลา จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของ “สินค้าเอกชน” (Private Goods) ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน

เมื่อแต่ละคนมาอยู่รวมกัน เวลาอาจจะไม่ใช่ปัญหา เพราะแต่ละคนต่างเป็นเจ้าของเวลาของตน และก็มีอย่างเท่าเทียมกันคนละ 24 ชั่วโมงเสียด้วย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาเมื่อคนมาอยู่รวมกันก็คือ “เวลาในการใช้ทรัพยากร”

จากคำกล่าวด้านบน มีความชัดเจนว่า เวลาของแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลามีค่าไม่เท่ากัน เวลาในการใช้ทรัพยากรสังคมโดยคนบางคนจึงเท่ากับว่าไปเบียดเบียน แข่งขัน หรือแย่งชิงเวลาจากคนอื่นในการใช้ทรัพยากรนั้นๆ

……….

เวลาบางประเภทสามารถบริหารจัดการได้แบบสินค้าเอกชน เช่น ถ้าเพื่อนๆ ขับรถเข้าไปในสยามสแควร์ จะเจอกับที่จอดรถแบบเร่งด่วน ที่คิดราคาค่าจอดรถแพงขึ้นกว่าปกติเป็นเท่าตัว หรือหากจองตั๋วเครื่องบินในช่วงใกล้เวลาเดินทาง ราคาตั๋วเครื่องบินก็จะแพงกว่าคนที่จองล่วงหน้าหลายเท่าตัวเช่นกัน การตั้งราคาที่ไม่เท่ากันก็เพื่อแยกแยะความจำเป็นที่ไม่เท่ากันของแต่ละคน ด้านหนึ่งอาจจะเป็นผลกำไรพิเศษของผู้ประกอบการ แต่อีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นการแก้ปัญหาค่าของเวลาที่ไม่เท่ากันของแต่ละคนไปด้วยในตัว

แต่เวลาบางประเภทก็เป็นประเด็นของการแย่งชิงทรัพยากรสาธารณะ ยกตัวอย่างง่ายๆ ณ เวลาหนึ่งๆ บนถนน ย่อมเต็มไปด้วยผู้คนที่มีความจำเป็นแตกต่างกัน บางคนขับรถเล่นฆ่าเวลา บางคนกำลังไปรับแฟน บางคนไปพบพ่อที่รอกินข้าว บางคนรีบไปสัมภาษณ์งาน[ไปสาย ตกงานแน่ๆ] หรือบางคนกำลังป่วยหนัก ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้ทัน แน่นอนว่า 1 นาทีที่เท่ากันของพวกเขามีค่าไม่เท่ากันแน่ๆ

ประเด็นก็คือว่า คนสุดท้ายตกอยู่ในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ เสี้ยววินาทีของเขาดูมีค่ามากที่สุด และมากกว่าคนอื่นๆ อย่างเปรียบเทียบไม่ได้ เพราะอาจหมายถึงทั้งชีวิตของเขา

สังคมจึงต้องมีระบบในการจัดการกับสถานการณ์ในการแย่งชิงทรัพยากรสาธารณะ ที่ไม่สามารถอาศัยการกำหนดราคาที่แตกต่างกันได้ดังกรณีที่จอดรถ อย่างเช่น การติดไซเรนให้รถพยาบาล เพื่อขอทางจากผู้ใช้ถนนคนอื่น หรือในบางประเทศที่ออกเป็นกฎหมายให้รถทุกคันต้องหยุด เมื่อได้ยินเสียงไซเรน แน่นอนว่า ระบบกฎหมายก็ดูจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า ไม่อย่างนั้นแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่าสถานการณ์ของตนเองสำคัญกว่าเสมอ ทั้งที่จริงแล้ว ไม่ควรจะต้องเป็นการบังคับ เพราะในวันหนึ่ง เราอาจจะเป็นคนที่อยู่ในรถไซเรนคันนั้นก็เป็นไปได้

คำกล่าวที่ว่ามาจึงเป็นจริงอย่างยิ่งในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะเวลาของแต่ละคนในแต่ละสถานการณ์มีมูลค่าไม่เท่ากัน และนอกเหนือจากสถานการณ์ความเดือดร้อนของตัวเราเอง อย่าลืมว่าอาจจะเป็นวินาทีชีวิต หรือเป็นวินาทีที่มีความสำคัญมากกว่า สำหรับใครสักคน และเมื่อวันนั้นมาถึง คนๆ นั้นอาจจะเป็นตัวเราเอง

เมื่ออยู่ในสังคม เราจึงอย่าลืมช่วยกันนึกถึงจิตใจคนอื่นด้วยนะครับ เราคงไม่ใช่คนที่สำคัญที่สุดของสังคมเสมอไป แต่ถ้าเราทุกคนช่วยกันเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราทุกคนก็จะกลายเป็นคนที่สำคัญที่สุดของสังคมกันได้ทุกคนครับ

ไม่มีความคิดเห็น: