( (( )) )

6 พฤศจิกายน 2555

คนเรารู้สึก“เสียใจ”กับเรื่องอะไรบ้าง ก่อนเสียชีวิต?

คนเรารู้สึก“เสียใจ”กับเรื่องอะไรบ้าง ก่อนเสียชีวิต?

หนังสือขายดีใน Amazon เล่มหนึ่ง ชื่อว่า “The Top Five Regrets of the Dying” เขียนโดย Bronnie Ware ซึ่งเป็นคนดูแลผู้ป่วยที่รู้ตัวว่ากำลังจะเสียชีวิตและกลับไปอยู่ที่บ้านเพื่อรอวันตาย โดยเธอจะอยู่กับผู้ป่วยเหล่านี้ในช่วงสามถึงสิบสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต ในช่วงเวลาดังกล่าว เธอได้มีโอกาสพูดคุยและรับฟังความในใจของผู้ป่วยเหล่านี้ เมื่อถามถึงสิ่งที่เสียใจหรือสิ่งใดๆ ก็ตามที่อยากจะย้อนอดีตไปเปลี่ยนแปลงนั้น เธอพบว่ามีอยู่ห้าประเด็นหลักๆ

ประเด็นแรก พวกเขาน่าจะใช้ชีวิตตามความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง มากกว่าตามความคาดหวังของคนอื่น (I wish I’d had the courage to live a life true to myself, not the life others expected of me.)

เกือบทุกคนที่กำลังจะเสียชีวิตจะพูดถึงประเด็นนี้ เมื่อพวกเขารู้ตัวว่าชีวิตได้ล่วงเลยมาจนถึงขั้นนี้แล้ว และย้อนกลับไปมองอดีต เขาจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าอะไรที่อยากทำ อะไรที่ได้ทำ และอะไรที่ยังไม่ได้ทำ

กว่าพวกเขาจะรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่ควรจะเดินตามความฝันของตัวเอง หรืออย่างน้อยก็แค่พยายาม มันก็สายเกินไป สุขภาพของพวกเขาเอาอิสรภาพในการตัดสินใจทำไปจากพวกเขาแล้ว และก็ไม่มีวันจะคืนให้เขาอีกต่อไป

ประเด็นที่สอง พวกเขาจะไม่ทำงานหนัก (I wish I didn’t work so hard.)

งานหนักที่พวกเขาเคยรู้สึกว่าไม่ทำไม่ได้นั้น พาพวกเขาออกห่างจากชีวิตส่วนตัว ลูกๆ ครอบครัว และคนสำคัญของชีวิต พวกเขาไขว่คว้าและวิ่งตามแต่เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือแม้กระทั่งการยอมรับจากคนที่อยู่นอกวงกลมของชีวิต โดยที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนว่าตัวเองทำอย่างนั้น

พวกเขาคิดว่าพวกเขาน่าจะมีตารางเวลาที่ดี แสวงหาเงินทอง ชื่อเสียง หรือเกียรติยศเท่าที่พอเพียง และแบ่งเวลาไปให้กับชีวิตส่วนตัว ลูกๆ ครอบครัว และคนสำคัญของชีวิต เพราะท้ายที่สุดแล้ว เมื่อพวกเขาหมดลมหายใจ จะไม่มีอะไรที่ติดตัวพวกเขาไปเลยสักอย่างเดียว

ประเด็นที่สาม พวกเขาน่าจะกล้าแสดงความรู้สึกของตัวเองให้มากกว่านี้ (I wish I’d had the courage to express my feelings.)

คนจำนวนมากเก็บความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ข้างใน เพราะเกรงใจ เพราะกลัวคนจะว่า เพราะกลัวจะไปขัดใจคนอื่น แต่ความรู้สึกเหล่านั้นจะนำมาซึ่งความเครียด และความรู้สึกไม่ดีกับตัวเองในภายหลัง นอกจากนี้ ความต้องการแสดงความรู้สึกของตัวเองไม่ได้มีเฉพาะด้านลบเท่านั้น พวกเขายังไม่แทบจะไม่ได้แสดงความรู้สึกดีดีออกไปให้บางคนที่ได้รับรู้ในสถานการณ์นั้นๆ เมื่อเวลาผ่านมา จนถึงที่พวกเขากำลังจะเสียชีวิต หลายคนก็เสียชีวิตไปก่อนเขา และหลายครั้งมันก็เลยสถานการณ์นั้นๆ มานานแล้ว

หากพวกเขาได้แสดงความต้องการออกไปอย่างที่ตัวเองรู้สึก ทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดีนั้น จะทำให้พวกเขาไม่มีอะไรค้างคาอยู่ในใจ รู้สึกดีกับตัวเองมากกว่านี้ และเป็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง

ประเด็นที่สี่ พวกเขาจะอยู่กับเพื่อนเก่าๆ ให้นานกว่านี้ (I wish I had stayed in touch with my friends.)

บ่อยครั้งที่พวกเขารับรู้ถึงความสุขที่แท้จริงจากการได้อยู่กับเพื่อนเก่าๆ ก็ต่อเมื่อตัวเขาเองกำลังจะเสียชีวิตลง หรือเพื่อนๆ ของเขาเหล่านั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว ที่ผ่านมา พวกเขาก็ห่างเหินจากเพื่อนเก่าๆ ที่สนิทกันมากๆ ไปเป็นปีๆ และเมื่อพวกเขากำลังจะเสียชีวิต พวกเขาก็รู้สึกเสียใจกับช่วงเวลาที่ผ่านมา

มันอาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ชีวิตอันยุ่งเหยิงจะพาเราออกจากเพื่อนๆ แต่เมื่อเรากำลังจะเสียชีวิตลง พวกเขากลับต้องการเพื่อนๆ พูดคุย เห็นหน้า ดูหนังด้วยกัน ไปเที่ยวกัน มากกว่าเรื่องอื่นๆ เสียอีก

ประเด็นที่ห้า พวกเขาน่าจะทำให้ชีวิตมีความสุขมากกว่านี้ (I wish that I had let myself be happier.)

เป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่กำลังจะเสียชีวิตกลับตระหนักว่า ความสุขนั้นอยู่ที่ตัวเราเอง พวกเขาดำเนินชีวิตแบบเดิมๆ ใช้ชีวิตแบบซ้ำๆ แล้วก็หลอกตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่มันดีอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ก็ไม่อยากจะลำบากต้องเปลี่ยนแปลงอะไร

เมื่อพวกเขากำลังจะเสียชีวิต และย้อนเวลากลับไปนึกถึง พวกเขารู้สึกว่าความสุขในชีวิตนั้น เกิดจากสิ่งที่เขาเลือก อะไรก็ตามที่ทำอยู่ซ้ำๆ จะไม่ได้ให้อะไรกับชีวิตมากนัก แต่จุดเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่เป็นไปตามความต้องการของตนเองนั้น ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว มีความหมายกับชีวิตมากกว่านัก

ไม่มีความคิดเห็น: