( (( )) )

26 พฤศจิกายน 2555

เศรษฐศาสตร์ แห่งความจริง

เศรษฐศาสตร์ แห่งความจริง

จะขอเริ่มต้นด้วยการแยกเรื่องราวทางเศรษฐกิจออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตลาดเก็งกำไร เช่น เรื่องของ ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ การคำนวณ GDP มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน หรือเรื่องของการทำธุรกิจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เราสามารถคิดได้อย่างเป็นเหตุ เป็นผล, ใช้เหตุผลตรงไปตรงมาในระดับปกติธรรมดาในการคิดได้ ส่วนที่สอง เป็นเรื่องของตลาดเก็งกำไร เช่นตลาดหุ้น ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ตลาดซื้อขายทอง ตลาดซื้อขายน้ำมัน ฯลฯ ตลาดเก็งกำไรเหล่านี้ไม่ได้มีเหตุผลตรง ๆ ในแบบที่เราคิดกัน ไม่สามารถใช้เหตุผลในระดับปกติธรรมดา แบบที่เราใช้ในการทำธุรกิจ ฯลฯ ในการเอาชนะ หรือคาดการณ์ทิศทางราคาให้ถูกต้องได้ เราจึงเห็น คนเก่ง ๆ มีการศึกษาสูง เป็น ด็อกเตอร์ เป็นหมอ เป็นนักวิชาการ เป็นนักธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จ หาเงินได้มากจนร่ำรวย พอมาเล่นหุ้นกลับขาดทุน คาดการณ์ทิศทางราคาผิดตลอด เพราะหลักการเหตุผลมันคนละอย่างกัน วิธีการหลักคิดที่ใช้ในการทำธุรกิจ แล้วประสบความสำเร็จจนร่ำรวย พอเอาหลักการเหตุผล มาใช้ในตลาดหุ้นกลับขาดทุน เพราะตลาดหุ้นไม่ได้มีเหตุผลตรง ๆในแบบที่เราคิดกันแต่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ของเหตุและผล ถ้าตลาดหุ้นเป็นเหตุ เป็นผลและใช้เหตุผลวิเคราะห์คาดการณ์ทิศทางราคาได้ คนเก่ง ๆ มาเล่นหุ้นต้องได้กำไรไม่ใช่ขาดทุนกันเป็นส่วนใหญ่เช่นนี้
มีคนอยู่น้อยนิดในโลกที่เข้าใจสิ่งนี้ หนึ่งในนั้นคือ WARREN BUFFET อย่างไรก็ตามเขาก็ไม่สามารถบอกได้ว่าทำอย่างไรจึงจะได้รู้ว่าเมื่อไรหุ้นจะขึ้นและเมื่อใดหุ้นจะลง วิธีเอาชนะตลาดหุ้นจนประสบความสำเร็จจนร่ำรวยของเขา หลักคิดที่เป็นหัวใจนั้น ตั้งอยู่บนฐานที่ว่า เราไม่สามารถรู้ได้หรอกว่า เมื่อใดหุ้นจะขึ้นและเมื่อไรจะลง การพยายามกะเก็งวงจรของตลาดจึงทำให้ประสิทธิภาพและผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น วิธีการทำกำไรจากตลาดหุ้นของเขา คือการซื้อหุ้นที่ธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาวพยายามซื้อในเวลาที่ตลาดตกต่ำมูลค่าหุ้นต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน และสามารถนั่งดูหุ้นที่ตัวเองซื้อราคาปรับลงไปอีกกว่าครึ่งได้โดยไม่รู้สึกขวัญผวา เมื่อซื้อแล้วให้ถือหุ้นที่ดีไว้ตลอดไปเท่าที่นานได้ ขายหุ้นที่ไม่ดีที่ผิดพลาดออกไป ฯลฯ (รายละเอียดอ่านหนังสือของ WARREN BUFFET) ไม่ใช่พยายามทำกำไรจากตลาดหุ้นโดยการพยายามกะเก็งวงจรของตลาด แต่เป็นการทำกำไรจากตลาดหุ้นโดยซื้อหุ้นที่ดีมีคุณค่า โดยไม่ต้องสนใจและไม่ต้องรู้ว่าหุ้นจะขึ้น-ลง เมื่อไรอย่างไร
แต่คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่เชื่อเช่นนั้น ส่วนใหญ่พยายามที่จะเข้า-ออก ให้ถูกจังหวะของตลาด โดยคิดว่าตัวเองทำได้ คนส่วนใหญ่ 98% จึงขาดทุนไม่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น เพราะเขาใช้ “เหตุผล” ในการวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้น วิธีเดียวที่จะชนะตลาดหุ้น ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดซื้อขายน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งก็คือ สามารถคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจได้ถูกต้อง ต้องใช้และเข้าใจทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แห่งความจริง
ทฤษฎีนี้อธิบายว่าความจริงแท้ไม่ใช่สิ่งที่ตาเห็น หูได้ยินและสัมผัสได้ แต่ความจริงจะอยู่ลึกลงไปข้างในไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยประสาทสัมผัส ถ้าคิดในแบบทั่ว ๆ ไป เราจะคิดว่าเราก็สามารถทำกำไรจากตลาดหุ้นได้ ขึ้นอยู่กับการติด - ตามใกล้ชิดข้อมูลข่าวสาร วิเคราะห์สถานการณ์ตัวเลขต่าง ๆ ได้ถูกต้อง แต่ถ้าคิดตามหลักความจริงแล้ว จะเห็นว่าพวกเราบุคคลธรรมดาทั่วไป เช่น เป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ อาจารย์ ฯลฯ อยู่ในระดับล่างสุดแล้วที่เข้าไปซื้อขายในตลาดเก็งกำไรได้ ระดับต่ำหรืออยู่ล่างกว่า พวกเรา ๆ คือ คนชั้นแรงงานซึ่งไม่มีปัญญา ลงทุนในตลาดเก็งกำไร นอกนั้นมีแต่ระดับสูงกว่าเรา ไล่จากล่างสูงขึ้นไปก็คือเริ่มจาก กองทุนในประเทศ ธนาคารในประเทศ ธนาคารต่างประเทศ กองทุนต่างประเทศ จนถึงระดับสูงที่สุด คือระดับ จอซ โซรอส หรือเทียบเท่า จะเห็นว่าพวกเราอยู่ระดับล่างสุดที่ซื้อขายอยู่ในตลาดเก็งกำไร ถ้าเรากำไรแล้วใครจะขาดทุน ? มันไม่มีแล้วเนื่องจากเราอยู่ระดับล่างสุด เราจึงจะเป็นผู้ขาดทุนเสมอ โดยเม็ดเงินจะออกจากกระเป๋าเราไปสู่ระดับที่สูงกว่า – สูงสุด เนื่องจากในตลาดหุ้นมีคนกำไร ก็ต้องมีคนขาดทุน * เป็นวิธีคิดตามหลักความเป็นจริง ไม่ใช่ตามสิ่งที่ตาเห็น ดังนั้นเราจึงจะต้องไม่ซื้อ ในขณะที่คนทั่วไปส่วนใหญ่ซื้อในทางกับกันเราต้องขาย และต้องซื้อในเวลาที่คนส่วนใหญ่ขาย คือต้องเป็นส่วนน้อย และเนื่องจากคนส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อขายในตลาดเก็งกำไรด้วย ”เหตุผล” เราจึงต้องไม่ใช้เหตุผลในการตัดสินใจซื้อหรือขายเรื่องราวจึงกลายเป็นว่า เมื่อใดมีข่าวดี มีแต่เหตุผลด้านดี ๆ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดี ๆ ที่บ่งบอกว่าราคาหุ้นจะขึ้นต่อไปอีก MASS ตัดสินใจซื้อขายหุ้นด้วยเหตุผลในระดับปกติธรรมดายอมซื้อ เมื่อใดเหตุผลชัดเจน MASS แทบทุกคนก็ย่อมเห็นและซื้อกันหมด มองไปทางไหน ถามใคร ๆ ก็บอกหุ้นน่าซื้อ แต่เราลืมไปว่าคนไทยแทบทุกคนซื้อหุ้นกันอยู่ได้อย่างไร และใครขาย ? เพราะซื้อต้องเท่ากับขายเสมอแสดงว่าอีกด้านหนึ่งที่เรามองไม่เห็นว่าเป็นใคร กำลังขายอยู่ ซึ่งก็คือระดับ โซรอส จึงจะMATCH เกิดเป็นราคาได้ เมื่อ MASS ซื้อระดับผู้ชนะขาย ราคาก็เริ่มปรับตัวลงมาเรื่อย ๆ ข่าวร้ายก็ออกมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามราคาที่ต่ำลงเรื่อย ๆ โดยที่ข่าวร้ายเหล่านี้ เราไม่สามารถเห็นได้เลย ก่อนที่ราคาจะปรับตัวลงมา ก่อนที่ราคาจะลงจะมีแต่ เหตุผล – ข่าวดี ว่าราคาจะชึ้นต่อไปอีก เมื่อราคาปรับตัวลงเรื่อย ๆ จนต่ำถึงจุดบริเวณหนึ่งที่มีแต่ข่าวร้าย เหตุผลด้านไม่ดีที่บ่งบอกว่าราคาจะปรับตัวลงต่อไปอีก มองอย่างไรก็ไม่เห็นเหตุผลว่าราคาจะขึ้นได้อย่างไร MASS เล่นหุ้นด้วยเหตุผลก็ขาย ด้านผู้ชนะ MATCHING ด้านซื้อ ราคาก็เริ่มปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ เหตุผลด้านดี ๆ ก็ออกมาอ้างอธิบายมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่เหตุผลเหล่านี้เราไม่สามารถเห็นได้เลย ก่อนที่ราคาจะขึ้นมา มีแต่เหตุผลว่าราคาจะลงต่อ
ตัวอย่าง หลังจากอิรักบุกยึดคูเวตในปลายปี 2533 สมัยนายกชาติชาย ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลง จาก 1140 จุด ลงไปเรื่อย ๆ มากเคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 500-800 จุด ประมาณ 1-2 ปี และ 800-1000 จุด ประมาณ 1-2 ปี ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2534-2536 เป็นช่วงปรับฐานของเศรษฐกิจไทย เป็นช่วงเวลาที่มีแต่ข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี ปี 2530-2533 เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจบูมมาก ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นมาก มีการเก็งกำไรสูงมาก อุตสาหกรรมเติบโตไปรองรับกับราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นมากไม่ทันเมื่อเศรษฐกิจดีถูกตัดตอนลงไปในปี 2533 สิงหาคม เมื่ออีรักบุกยึดคูเวต ราคาหุ้นปรับตัวลงมาเรื่อย ๆ เงินทุนหยุดไหลเข้า เกิดสภาพเงินตึงในระบบ คนส่วนใหญ่ติดหุ้นซื้ออสังหาริมทรัพย์เก็บไว้ในราคาแพง แล้วขายไม่ทัน , ลงทุนเกินตัว ขาดสภาพคล่องในระบบเกิดสภาพ OVER SUPPLY มีความต้องการขายมากกว่าซื้อ ธนาคารพาณิชย์ก็ยอมปล่อยให้คนที่ไม่แข็งแรงพอล้มไป โดยการไม่ปล่อยกู้เพิ่ม เป็นช่วงเวลาของการปรับสมดุลของ DEMAND และ SUPPLY ไม่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตให้ขึ้นไปสอดคล้องกับราคาที่ดินที่สูงขึ้นมากได้ ก่อนปี 30 เรา EXPORT อะไร ปี 33-36 เราก็ยัง EXPORT เน้นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เหมือนเดิม แต่ราคาอสังหา ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 10 เท่าแล้ว ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นมาก แข่งขันไม่ได้ ค่าแรงจำเป็นต้องขึ้น ก็ขึ้นไม่ได้มาก จะทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นอีก ชนชั้นล่างลำบากมากขึ้น คนรวยก็มีปัญหา นายกอานันท์ ปัญญารชุน ถึงกับเคยกล่าวว่า ถ้าต้องขึ้นค่าแรงอีกในช่วงเวลานั้นอุตสาหกรรมไทยตายหมดแน่ ๆ อีกทั้งยุโรปขู่ตัด GSP ไทย, ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง อาจต้องลดค่าเงินบาทอีก ทั้งยังมีการปฏิวัติมีพฤษภาทมิฬ ที่ลดความน่าเชื่อถือต่างชาติไม่กล้ามาท่องเที่ยว มาลงทุน มองอย่างไรก็เป็นช่วงเวลาที่มีแต่ข่าวร้ายมากกว่าเรื่องดี ๆ อยู่มากมาย ตลาดหุ้นขึ้นไปทดสอบ 1000 จุด แล้วไม่ผ่าน 2 ครั้งแล้ว ปรับตัวลงมาประมาณ 800 จุด ครั้งที่สามผ่านและทะลุขึ้นไปถึง 1700 จุดใน 3 เดือน ถามว่าเหตุผลอยู่ตรงไหน ? เมื่อข่าวร้ายหรือเหตุผลชัดเจนมาก MASS ยิ่งขายมากหุ้นยิ่งขึ้นได้แรงมาก สถานการณ์นี้เกิดทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไป ก็ไปกำหนดให้สถานการณ์ดี ตัวเลขทางเศรษฐกิจดี เหตุผลคำอธิบายดี – มีมาก ขึ้นเรื่อย ๆ ตามราคาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดสูงสุดที่ MASS เข้าไปซื้อกันมากที่สุดแล้วจึงเริ่มปรับตัวลง
มีตัวอย่างอีกมากมายหลายสิบตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยในลักษณะแบบนี้ จะขออธิบายในโอกาสต่อไปจะเห็นว่าถ้าเราเข้าใจในทฤษฎีนี้เราจะสามารถกำไรได้ตลอดทั้งขาขึ้นและขาลงอย่างมากมาย
ตามทฤษฎีนี้ ราคาจึงเป็นตัวกำหนดสถานการณ์ ไม่ใช่สถานการณ์กำหนดราคา ไม่ใช่มีข่าวดีแล้วหุ้นขึ้น แต่หุ้นขึ้นแล้วมีข่าวดีตามมา เศรษฐกิจดี ตามมา ตัวจบสุดท้ายที่เป็นตัวพลิกกลับที่จุดสูงสุดและจุดต่ำสุด คือ ผลประโยชน์ของระดับผู้ชนะในโลก ไม่ใช่เหตุผลหรือข้อมูลข่าวสารสถานการณ์
แน่นอนว่าไม่ใช่ราคากำหนดสถานการณ์อยู่ด้านเดียว สถานการณ์ก็กำหนดราคาด้วย เป็นทฤษฎี TWO WAY REFLEXIBILITY INTER ACTION ของ จ้อช โซรอส ที่อธิบายว่า เมื่อใดผลประกอบการของบริษัทดี ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น ในทางกลับกันราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นก็ส่งผลสะท้อนกลับไปให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นอีก และผลประกอบการที่ดีขึ้นก็ส่งผลสะท้อนกลับไปให้ราคาหุ้นสูงขึ้นอีก กลับไปมาเช่นนี้จนถึงจุด ๆ หนึ่งที่เกินปัจจัยพื้นฐาน ราคาก็เริ่มปรับตัวลง ราคาที่ลดลงก็ส่งผลสะท้อนไปที่ผลประกอบการของบริษัทให้แย่ลง ซึ่งก็ส่งผลสะท้อนกลับไปให้ราคาหุ้นตกต่ำลงอีก จนถึงจุดที่ โซรอส บอกว่าต่ำเกินไปราคาก็เริ่มขึ้นใหม่ โดยเขาไม่บอกความลับสุดท้ายว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของพวกเขาเอง จุดต่ำสุดคือจุดที่มีแต่เหตุผลว่า จะลงต่อที่ทำให้ MASS ขายออกมามาก และจุดสูงสุดคือจุดที่มีแต่เหตุผลว่าจะขึ้นต่อไปอีก MASS จึงซื้อกันมากที่สุด การบอกเพียงว่าสูงและต่ำเกินไปทำให้ผู้อ่านหนังสือของ จอซ โซรอส ถึงแม้เข้าใจแต่ก็จับจุดสูงสุด ต่ำสุดไม่ออก เพราะเลื่อนลอยและวัดไม่ได้ว่าตรงไหน คือ สูงเกินไปแล้ วและต่ำเกินไปแล้ว
ส่วนคนไทยทั่วไปรวมถึงผู้บริหารประเทศ เมื่อเห็นเศรษฐกิจดีขึ้นจากจุดต่ำสุดขึ้นมาโดยที่พื้นฐานยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือเห็นว่าแย่ลงจากจุดสูงสุด ก็สรุปว่าเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น เชื่อถือของชาวต่างชาติ โดยที่ไม่เข้าใจในทฤษฎีนี้ว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของคนระดับ TOP ของโลกที่ทำให้เงิน-ไหล เข้า-ออก ความเชื่อมั่นก็ทำให้เงินต่างชาติไหล เข้า-ออก เช่นกันแต่เป็นต่างชาติทั่วไปที่เหมือน ๆ พวกเรา คือเป็นคนธรรมดา นักธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งอาจกำไรก็ได้ขาดทุนก็ได้ เหมือนพวกเรา ไม่ใช่ต่างชาติที่มีนัยยะ ที่กำไรเสมอแบบ จ้อช โซรอส
ถ้าราคาหุ้นเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับเหตุผลอยู่ตลอดเวลาจริง ตามที่ได้อธิบายมานี้ ทำไมคนทั่วไปจึงไม่เห็นและจับจุดไม่ได้สักที อธิบายได้ดังนี้ คนทั่วไปส่วนใหญ่ในโลกนอกจากตัดสินใจซื้อ-ขายหุ้นด้วยเหตุผลแล้ว ยังมีการเปรียบเทียบอดีตอีกด้วยว่าเคยเกิดอะไรขึ้นและเป็นอยู่มาโดยดูจากความคล้ายความเหมือน แล้วจึงใช้ตัดสินใจประกอบกับเหตุผล ยกตัวอย่างมีข่าวดีแล้ว MASS เข้าไปซื้อหุ้น แล้วหุ้นตกสัก 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 มีข่าวดี เหตุผลดี ๆ ให้เห็น MASS ก็ไม่กล้าซื้อหุ้นแล้วแม้มีข่าวดีเพราะซื้อตอนข่าวดีมา 2 ครั้งแล้ว ขาดทุน ครั้งที่ 3 มีข่าวดีราคาก็จึงขึ้นได้ จึงดูเหมือนกับว่าราคาหุ้นเคลื่อนตัวไปด้วยเหตุผล เป็นเหตุผล คือมีข่าวดีแล้วหุ้นขึ้น จะเห็นว่าแท้จริงแล้วราคาหุ้นก็ยังคงเคลื่อนตัวไปด้วยจิตวิทยาอยู่ดี กล่าวคือ จะเคลื่อนตัวไปด้วยเหตุผลในครั้งที่เราไม่ใช้เหตุผลในการตัดสินใจซื้อขายและ เคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับเหตุผลในครั้งที่เราใช้เหตุผล สรุปก็คือเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่เรา (MASS) ขาดทุนอยู่ตลอดเวลา
ในโลกยุค GLOBALIZATION นี้ ราคากำหนดสถานการณ์ได้รุนแรงและกว้างขวางกว่าแต่ก่อนมาก เพราะคนในโลกเข้าสู่เกมการเงิน ภาคเก็งกำไรกันมากกว่าแต่ก่อนมาก ภาคเศรษฐกิจจริง เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ประชานิยม การลงทุน ฯลฯ ในตัวของมันเองนั้น ก็สามารถกำหนดสถานการณ์ให้ดีขึ้นหรือแย่ลงได้ แต่น้ำหนักจะน้อยกว่าราคาในตลาดเก็งกำไรที่เคลื่อนไหวขึ้นลงเป็นตัวกำหนดสถานการณ์ได้รุนแรงกว่ามาก เช่น ถ้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่หุ้นกำลังจะขึ้นอยู่แล้ว (คุณทักษิณเป็นนายกสมัยแรก) ก็จะเกิดผล ++ ต่อเศรษฐกิจต่อสถานการณ์ทั้งผลดีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลดีต่อสถานการณ์จากราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นด้วยเหตุผลของกลไกของมันตามทฤษฎีผลประโยชน์ แต่ถ้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี ๆ ในเวลาที่หุ้นจะต้องลงอยู่แล้วตามกลไกของมัน (คุณทักษิณเป็นนายกสมัยที่สอง และคุณสมัครเป็นนายก) หุ้นก็จะลงอยู่ดี และราคาหุ้นที่ปรับตัวลงก็จะไปกำหนดให้สถานการณ์ให้แย่จนกลบผลดี สถานการณ์ดี อันเกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปจนเกือบหมด
ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เราไม่อาจรู้ล่วงหน้า เช่น สงคราม แผ่นดินไหว จลาจล โรคระบาด ก็ไม่สามารถหักลบทิศทาง ราคาในตลาดเก็งกำไร ไม่ให้เคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ MASS ขาดทุนอยู่ตลอดเวลาได้ ในภาพใหญ่ แต่อาจทำให้เปลี่ยนแปลงในระยะไม่กี่วัน หรือในช่วงหนึ่งได้ จะขออธิบายยกตัวอย่างคร่าว ๆ เนื่องจากมีรายละเอียดมากเกินกว่าจะอธิบายในที่นี้ได้หมด กล่าวคือ ในกรณีมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเรื่องใหญ่ ๆ ที่ไม่ดีเกิดขึ้นมา ในบริเวณที่ MASS ขายกันมากอยู่ ซึ่งตามทฤษฎีนี้ เป็นช่วงเวลาที่หุ้นกำลังจะต้องขึ้นอยู่แล้วเหตุการณ์นั้นก็ไม่สามารถเปลี่ยนให้หุ้นเป็นขาลงได้ แต่อาจทำให้ลงได้เล็กน้อยหรือปานกลางในไม่กี่ชั่วโมง หรือหลาย ๆ วัน หุ้นก็ต้องขึ้นอยู่ดีตามที่ต้องขึ้นอยู่แล้ว เมื่อราคาหุ้นขึ้นไปเรื่อย ๆ คนทั่วไปที่คิดตามภาพที่เห็น เชื่อในภาพสะท้อนของตลาดเก็งกำไร ต่อข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะสรุปว่า ข่าวร้าย เหตุการณ์นั้นไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ราคาจึงขึ้นต่อไปได้ เช่น สึนามิ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่หุ้นจะลงมาก ๆ ไม่ได้เนื่องจาก MASS ขายอยู่มากในช่วงเวลานั้น ราคาหุ้นลงวันเดียวก็ปรับตัวขึ้นอยู่ดี ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่มากราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นก็ไปกำหนดให้สถานการณ์โดยรวมดี การเคลื่อนตัวของราคาในตลาดเก็งกำไรจึงเป็นตัวกำหนดสถานการณ์และสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในสมองเราในแบบที่ไม่ถูกต้อง เหตุการณ์ไม่คาดคิดด้านไม่ดีหลาย ๆ เหตุการณ์นั้นถ้าเกิดขึ้นในเวลาที่ MASS ซื้อกันอยู่หุ้นจึงปรับตัวลงได้
เหตุการณ์ 911 ก่อการร้ายใน NEW YORK ที่เกิดขึ้นคิดด้วยเหตุผลแล้ว น่าจะทำให้เงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนอย่างมากแต่ราคาแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยในวันนั้น เนื่องจากกลไกการ MATCHING ระหว่าง MASS กับระดับผู้ชนะในโลกในเวลานั้นไม่สามารถทำให้ค่าเงินเหรียญอ่อนได้ เราเห็นอย่างนั้นเราก็เชื่อและอธิบายได้อยู่ดี ดังนั้นถ้าเราซื้อหุ้นในเวลาที่ MASS ขายกันหมดอยู่จริง ๆ จึงไม่ต้องกลัวเลยว่ามีเหตุการณ์ไม่คาดคิดใด ๆ ในโลกเกิดขึ้นแล้วเราจะขาดทุน กลไกราคาตามทฤษฎีนี้ได้ครอบคลุมทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้วราคาเป็นตัวกำหนดสถานการณ์ แม้ว่าราคาปรับตัวสูงขึ้นทั้งทั้งที่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดร้ายแรงเกิดขึ้นคนทั่วไปก็เชื่อ-คิดตาม-และอธิบายตามสิ่งที่ตาเห็นได้อยู่ดีว่าเป็นเพราะอะไร (ในด้านขายก็ตรงข้ามกัน)
ยังมีเรื่องราวและการยกตัวอย่างต่าง ๆ ของสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกมากมาย ที่อยากเขียนแต่เนื่องจากเวลา และหน้ากระดาษที่จำกัดและเกรงว่าจะยาวเกินไป จึงจะขอสรุปปิดท้ายไว้ดังนี้ว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แห่งความจริง เป็นทฤษฎีที่บอกเราในเรื่องของ “จังหวะเวลา” ที่จะซื้อหรือขาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในโลกนี้ ถ้าใครไม่เข้าใจในทฤษฎีนี้แม้จะทำธุรกิจเก่งแค่ไหนก็จะมาเสีย มาขาดทุนในตลาดเก็งกำไรนี้อยู่ตลอดเวลา เสียมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าทำเกินตัวแค่ไหนหรือไม่ นักธุรกิจหรือผู้บริหารประเทศที่เก่งที่ประสบความสำเร็จจึงจะต้องมีความรู้ เรื่องธุรกิจหรือเรื่องการบริหารประเทศ เพียงอย่างเดียวไม่พอ จะต้องรู้เรื่องของจังหวะเวลาที่ควรซื้อ-ขาย ลงทุนด้วย แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยากที่สุด และคนส่วนใหญ่ไม่รู้ ไม่เข้าใจแต่คิดว่ารู้แล้ว เราจึงได้เห็นธุรกิจที่ดีที่มีการบริหารจัดการดี มีระบบดี สินค้าขายดี บางบริษัทแทบไม่พอขาย แต่กลับขาดทุนล้มละลายกันมากมาย เนื่องจากขาดความเข้าใจในเรื่องของจังหวะเวลา
ในกรณีที่เป็นผู้บริหารประเทศความเข้าใจในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แห่งความจริง จะทำให้สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ลงทุน-บริหารประเทศได้ถูกจังหวะเวลา ทำให้ผลที่ลงไป 10 แต่กลายเป็น 15,20,50 มิฉะนั้นทำให้ผลที่ทำไว้ในภาคเศรษฐกิจจริงที่ทำไว้ 10 อาจได้แค่ 8,7,2 หรือติดลบก็ได้
ประเทศที่เจริญและประสบความสำเร็จ เช่น อเมริกา สิงค์โปร์ ฯลฯ ล้วนแต่เข้าใจในศาสตร์แห่งจังหวะเวลาทำให้ประเทศเหล่านี้มีกำไรจากการลงทุนในตลาดเก็งกำไรทั่วโลกมากมายมหาศาลไม่รู้จบ และลงทุนตัดสินใจซื้อขายบริหารประเทศ ตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ถูกจังหวะเวลา ย่อมได้ผลลัพธ์ ทวีคูณ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนในประเทศเหล่านี้จะเข้าใจด้วย เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็ย่อมมีวงจรขึ้นลงปกติเหมือนประเทศอื่น ๆ เพียงแต่ภาครัฐหรือกองทุนใหญ่ที่เข้าใจทฤษฎี จะกำไรตลอดเมื่อใดเศรษฐกิจของอเมริกาปรับตัวลงคนที่ขาดทุนก็คือประชาชนคนอเมริกัน ภาคเอกชน หรือภาครัฐที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ ความจริงแท้ในระบบเศรษฐกิจว่าคือ อะไร ไม่ใช่ระดับ จ๊อช โซรอส อยู่ดี ที่จะกำไรเสมอแม้วงจรเศรษฐกิจของประเทศเขาเองหรือ ประเทศใด ๆ ตกต่ำเป็นขาลง
หลังจากเข้าใจตามทฤษฎีแล้วว่าราคาในตลาดเก็งกำไร (ยกตัวอย่าง หุ้น) เคลื่อนตัวไปด้วยหลักการอะไร แต่ปัญหาก็คือว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตรงไหน MASS ซื้อกันหมดอยู่ และตรงไหน MASS กำลังขายอยู่ เพื่อที่เราจะได้ซื้อขายตรงข้าม ไม่เป็น MASS ซึ่งก็คือต้องเรียนรู้วิธีอ่านจากกราฟราคา จะสามารถเห็นว่าตรงไหน MASS กำลังตัดสินใจอย่างไรอยู่ (ไม่ใช่การดูทางเทคนิคต่าง ๆ ทั่วไป ซึ่งก็คือ MASS เช่นกัน) ภาคปฏิบัติการอ่านกราฟจะทำให้เข้าใจสิ่งที่อ่านมาทั้งหมดนี้ได้อย่างถ่องแท้ชัดเจน
บริเวณราคาที่เป็นจุดสูงสุด หรือต่ำสุดในวงจรใหญ่ ๆ ระยะปีหรือหลายปี เราจะสามารถรู้สึกสัมผัสได้เอง แม้ไม่เคยเรียนรู้วิธีดูกราฟ ว่าบริเวณราคา-สถานการณ์-เหตุผลแบบนี้ MASS กำลัง (ยกตัวอย่าง) ซื้อกันหมดอยู่ จากการที่มีแต่เหตุผลด้านดี ๆ ที่บ่งบอกว่าราคาขึ้นต่อ มองไปทางไหนถามใคร ๆ ก็มองโลกในแง่ดี ซื้อหุ้น-ลงทุน กันหมด แสดงว่าราคากำลังจะลงในด้านขายก็ตรงข้ามกัน แต่ถ้าเป็นเวลาทั่ว ๆ ไปใ นวงจรระดับ กลาง ๆ จะรู้สึก-สัมผัสยากต้องอ่านจากกราฟเท่านั้น
การที่แบงค์ชาติเข้าไปซื้อดอลล่าห์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ 38 บาท ก็เพราะคิดตามเหตุตามผลและเปรียบเทียบอดีตนะครับ หรือการที่แบงค์ชาติแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนในปี 2539 จนหมดหน้าตัก ก็เพราะคิดด้วยเหตุผลเช่นกัน หรือการที่ภาครัฐและเอกชนไทยไม่ได้ซื้อตั๋วน้ำมันในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าเก็บไว้ในราคา 10 กว่าเหรียญ ก่อนที่ราคาจะขึ้นสูง ซึ่งจะทำให้เราได้น้ำมันราคาส่งมอบที่ 10 กว่าเหรียญ ตลอดระยะสัญญาไม่ว่าราคาในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นมากเท่าไรก็ตาม ก็เพราะด้วยเหตุผลในขณะนั้นมองอย่างไรก็ไม่เห็นว่าราคาจะขึ้นมากขนาดนี้ไปได้อย่างไร ในทางกลับกันเรากลับตั้งกองทุนมาพยุงและแทรกแซงราคาน้ำมันที่ 30 กว่าเหรียญเพราะคิดตามเหตุผลที่เห็นเปรียบเทียบได้ในขณะนั้น เนื่องจากเห็นว่าตลอดเวลาร่วม 10 ปีที่ผ่านมาพอน้ำมันขึ้นมาถึง 30 กว่าเหรียญ ราคาก็กลับลงไปทุกครั้งในที่สุด เป็นวิธีการเปรียบเทียบอดีตและคิดตามเหตุตามผลของ MASS ในขณะที่ประเทศสิงค์โปร์ซื้อน้ำมันที่ 12 เหรียญดอลลาห์สหรัฐต่อบาเรลไว้จำนวนมากมายมหาศาลสำหรับพอใช้ไป 5 ปี เมื่อมีคนซื้อล่วงหน้าได้ ย่อมหมายความว่า มีคนขายล่วงหน้า จึง MATCH เกิดเป็นราคาได้ นั่นหมายความว่าประเทศหนึ่งประเทศใดในกลุ่มโอเปค ตกลงขายล่วงหน้าให้สิงค์โปร์ไป หมายความว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างโอเปคก็ไม่ได้รู้ว่าราคาจะเคลื่อนไปในทิศทางใด ถ้ารู้ก็คงไม่ขายแน่นอน OPEC ก็คือพ่อค้าธรรมดาที่ไม่ได้เข้าใจทฤษฎี MASS การเคลื่อนตัวของกลไกราคาว่าเป็นไปด้วยหลักการอะไรเขาก็คิดตามเหตุตามผล เห็นว่ามีกำไรก็ขายถูกบ้าง แพงบ้างตามราคาที่ตกลงกันในตลาดแบบพ่อค้านักธุรกิจทั่ว ๆไป
เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างของการตัดสินใจผิดพลาด ของทุก ๆ รัฐบาลและเอกชนไทยนะครับ ลองคิดดูว่าถ้าประเทศไทย ซื้อน้ำมันที่ 10 กว่าเหรียญดอลลาห์สหรัฐไว้ เพียงพอสำหรับหลาย ๆ ปี(อาจซื้อล่วงหน้าไว้โดยใช้ MARGIN) ขายดอลลาห์ที่ 40 กว่าบาท หรือแม้แต่ 50 กว่าบาท เราจะได้กำไรเป็นเม็ดเงินสดคืนกลับสู่ประเทศชาติและประชาชนขนาดไหน ลองนึกภาพดู (เหมือนกับกองทุนเทมาแสคของสิงค์โปร์)
พิชัย จาวลา
24 มีนาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น: